อดีตโฆษก พธม.ขีดปฏิทินการเมือง 1-13 ม.ค.รัฐบาลรักษาการฝ่าวิกฤติก่อนชัดดาวน์กทม.

ข่าวการเมือง Thursday January 2, 2014 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษก และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่น 2 โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุคส่วนตัวถึงปฏิทินทางการเมืองที่สำคัญต้องจับตาในช่วงรนี้จนถึง 13 ม.ค.57 ซึ่งเป็นวันที่ทางกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(กปปส.)ประกาศชัดดาวน์กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ วันที่ 1 ม.ค.57 เป็นวันสุดท้ายปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบแบ่งเขต ปรากฏว่าจะมี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ ดังนั้น จึงหมายความว่าในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.หากมีขึ้น ก็จะมีจำนวน ส.ส.ไม่ครบ 95% (ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 7) เท่ากับไม่มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ และไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้ จึงเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ไม่ได้ด้วยเช่นกัน

เมื่อ กกต.ประกาศไม่เลื่อนกำหนดวันเลือกตั้ง และให้ทุกฝ่ายเจรจากันก่อน หมายความว่าถ้าประชาชนใน 28 เขตเลือกตั้ง ยังยืนยันในเจตนารมณ์เดิมที่จะให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งได้สำเร็จ ก็จะไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้อำนาจจากสภาชุดใหม่และรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป กปปส.จึงเหลือภารกิจอีกสองด้าน คือกำจัดรัฐบาลรักษาการชุดนี้ และสถาปนาอำนาจใหม่ที่ไม่ใช่ระบอบทักษิณ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 ม.ค.57 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการททุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)จะลงมติแจ้งข้อกล่าวหา 381 สส., สว. และ รัฐมนตรี ในคดีกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.หรือไม่

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 4 บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้า ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันดังกล่าวผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้ประธาน ป.ป.ช.ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา 273 และอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ความจริงเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาไปแล้ว การแจ้งข้อกล่าวหาในส่วนของ ส.ส.ไม่ค่อยมีผลเท่าใดนัก (เพราะ ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปตามการยุบสภาแล้ว) แต่การชี้มูลในส่วนของ ส.ว.ที่ร่วมกันกระทำความผิดในระบอบทักษิณจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ ตรงนี้มีความหมาย เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา"เท่าที่มีอยู่"จึงย่อมไม่ใช่ฝ่ายระบอบทักษิณอีกต่อไป และอาจถอดถอน ส.ส.และส.ว.สำเร็จเป็นครั้งแรกก็ได้ แต่หาก ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลประเด็นนี้ การถอดถอนไม่ว่าจะเป็นใครในระบอบทักษิณก็ตามไม่มีทางสำเร็จได้

แต่ถึงแม้จะรีบลงมติถอดถอนไปได้สำเร็จ กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่อยู่ดี ดังนั้น หาก ป.ป.ช.ลงมติแจ้งข้อกล่าวหา การที่ ส.ว.เท่าที่มีอยู่คาเรื่องนี้ไว้ให้ ส.ว.ฝ่ายระบอบทักษิณหยุดปฏิบัติหน้าที่ต่อไป อาจเกิดประโยชน์กว่าสำหรับการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน

เว้นเสียแต่ว่า กกต.ทั้ง 5 คนตัดสินใจลาออกหลังจากวันที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา 381 คน ก็จะทำให้จัดการเลือกตั้งซ่อมไม่ได้ และรับรองผลการเลือกตั้งก็ไม่ได้ และหากจะคัดสรร กกต.ใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ผู้ที่คัดสรรก็จะไม่ใช่ ส.ว.ฝ่ายระบอบทักษิณ

ส่วนวันที่ 8 ม.ค.57 ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งประเด็นนี้มีความสำคัญเพราะเชื่อได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับมหาอำนาจที่พยายามจะมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ทำให้การสัญญาระหว่างประเทศลัดขั้นตอนลง หากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการกระทำความผิดจะเกิดประโยชน์ 3 ประการ 1. เป็นไปตามข้อความที่ว่า "ให้นึกถึงส่วนรวม และความเป็นไทยไว้เสมอ", 2. ทำให้ต่างชาติหมดแรงจูงใจในข้อตกลงกับฝ่ายระบอบทักษิณที่ผ่านมา และ 3. สามารถดำเนินคดีอาญาอีก 1 คดีกับเหล่า ส.ส.และ ส.ว.

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ามาสู่อำนาจต่อไปหากไม่ใช่ถูกชักจูงด้วยผลประโยชน์ได้ง่าย ก็จะถูกบีบให้ทำสัญญาโดยหมดข้ออ้างว่าต้องทำตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เสียก่อน

จากนั้นในวันที่ 10 ม.ค.57 ประธานสภาผู้แทนราษฎร,ประธานวุฒิสภา จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ ป.ป.ช.เป็นผลต่อเนื่องจากวันที่ 26 ธ.ค.56 ที่ ป.ป.ช.ได้ลงมติแจ้งข้อกล่าวหาเอาไว้ แต่ตรงนี้หากวันที่ 7 ม.ค.57 ป.ป.ช.ไม่ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ส.ส.และ ส.ว. 381 คน ต่อให้ในวันหนึ่งประธานวุฒิสภาคนนี้พ้นจากตำแหน่งไป ส.ว.เสียงข้างมากเหล่านี้ก็จะเลือกประธาน ส.ว.ฝ่ายระบอบทักษิณกลับมาอยู่ดี

ตำแหน่งประธานวุฒิสภาในเวลานี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยามที่อาจเกิดสุญญากาศอันเกิดจากการยุบสภา+เลือกตั้งไม่สำเร็จ+คณะรัฐมนตรีรักษาการพ้นจากตำแหน่ง รองประธานวุฒิสภาผู้ที่ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้ขอใช้มาตรา 7 เพื่อทำให้เกิด"นายกรัฐมนตรีเพื่อปฏิรูปประเทศไทย"ในยามที่ไม่สามารถใช้บทบัญญัติใดๆ ตามรัฐธรรมนูญได้เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมืองรอบด้าน

เมื่อถึงวันที่ 10 ม.ค.57 ถ้าทุกอย่างดำเนินตามไปตามข้างต้นก็จะเหลือขั้นตอนต่อไปที่สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน คือจะให้คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกทั้งคณะได้สำเร็จหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าถึงแม้ ป.ป.ช.จะชี้มูลเรื่องต่างๆ ข้างต้น การหยุดปฏิบัติหน้าที่ซึ่งถูกกล่าวหานั้นยังอาจถูกตีความจำกัดเฉพาะหน้าที่ของ ส.ส.ไม่ใช่หน้าที่ของรักษาการนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

ถ้าวันที่ 13 ม.ค.57 เป็นต้นไป กปปส.สามารถชุมนุมปิดกรุงเทพฯ หลายวันแล้วทำให้คณะรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น คนกรุงเทพฯ ก็อาจเดือดร้อนจนกระแสตีกลับได้ ก็อาจต้องคิดเรื่องการใช้มวลชนออกปฏิบัติการกับนักการเมืองในระบอบทักษิณโดยตรงอาจได้ผลมากกว่า และช่วยกันเร่งให้ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เช่น การทุจริตโครงการจำนำข้าว, โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ฯลฯ

"แต่ถ้าคิดถึงขั้นจะปฏิวัติประชาชน สถาปนาอำนาจรัฐาธิปัตย์ได้ ผมยังเห็นว่าเนื้อหาการปฏิรูปการเมือง คือ การครองใจประชาชนที่แท้จริง (ปฏิรูปการปราบทุจริต, ปฏิรูปตำรวจ, ปฏิรูปพลังงาน) มีความสำคัญมากเสียยิ่งกว่ารูปแบบของการเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อการปฏิรูปเสียอีก เพราะถ้ามุ่งเน้นรูปแบบมาก รัฐบาลก็ประชันแข่งด้วยรูปแบบอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้เช่นกัน เมื่อครองใจประชาชนส่วนใหญ่ได้แล้วจึงจะลดความเสียหายในการเข้าสู่อำนาจรัฐใหม่ได้ ลดความเสียหายที่อาจเกิดจากสงครามระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย เพราะศึกครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วคือสงครามช่วงชิง "ความชอบธรรม" เพื่อครองใจประชาชน""นายปานเทพ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ