นายกฯ ประชุมผลกระทบชุมนุมต่อการท่องเที่ยว เชื่อยังมีโอกาสในต่างจังหวัด

ข่าวการเมือง Thursday January 9, 2014 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในขณะนี้ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน อย่างไรก็ดีบนข่าวที่น่ากังวลก็ยังมีข่าวดีที่ว่าภาคการท่องเที่ยวยังมีโอกาสอยู่ ฉะนั้นจึงน่าจะดำเนินการโดย 1. ขอให้ภาคเอกชนขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนให้เปิดพื้นที่ที่เป็นข่าวดี ดึงเรื่องที่สร้างบรรยากาศที่มีความสุข อย่างวันเด็ก หรือเปิดพื้นที่สำหรับจังหวัดอื่นถ้าเป็นไปได้ โดยอาจให้ภาคเอกชนร่วมกับหน่วยราชการทำอีเวนต์กับจังหวัดอื่น เพราะเรายังมีโอกาสอยู่ วันนี้เหตุการณ์ความวุ่นวายไม่ได้เกิดขึ้นทั้งประเทศแต่เกิดขึ้นบางพื้นที่

2. ในส่วนของภาครัฐ ได้ยืนยันว่ารัฐไม่ใช้กำลังรุนแรงกับประชาชน และยืนยันกับที่ประชุมวันนี้ว่าภาครัฐยังใช้นโยบายเดิม โดยภาครัฐจะเดินโจทย์ไม่ใช้ความรุนแรง ทำทุกวิถีทางที่ไม่ให้เกิดความรุนแรง และจะเชิญคณะทูตมาสังเกตการณ์เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักสากล ทั้งนี้ถ้าถามว่าจะจบเร็วหรือเปล่าก็คงตอบยาก จึงขอความกรุณากับ

ภาคเอกชนได้พูดคุยขอร้องให้ทุกส่วนเข้ามาสู่เวทีของการปฏิรูป มาคุยกันเพื่อให้เดินหน้า เพื่อลดการเผชิญหน้าของการชุมนุมลง ภาครัฐยินดีให้ความร่วมมือ ขอเพียงให้มานั่งคุยกัน

นายกรัฐมนคตรี กล่าวถึงการที่ต้องเดินหน้าเลือกตั้งเนื่องจากเป็นข้อกฎหมาย รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะขึ้นอยู่กับทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ฉะนั้นวิธีเดียวคือมาคุยกัน ให้ทุกส่วนมาหารือพร้อมใจกันว่าจะแก้กันอย่างไร ขอให้มาช่วยกันคุยพร้อม ๆ กันแล้วหันหน้ามาเดินกัน เชื่อว่าทุกคนก็เต็มใจ โดยนายกรัฐมนตรีเองก็เต็มใจที่จะพูดคุย และการเลื่อนการเลือกตั้งก็ไม่ใช่อยู่ที่คน ๆ เดียวที่จะเลื่อนได้ ซึ่งการพูดคุยกันและไม่ให้มีความรุนแรงเป็นเจตนารมณ์ที่เราอยากจะเดินเดินด้วยความอดทน พยายามเรียกร้องให้เกิดสันติ และจากที่ได้ตรวจสอบกับทางต่างชาติถึงเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ที่หลายประเทศก็มีเหตุการณ์แบบนี้ซึ่งเขาก็รับได้แต่ขอไม่ให้แรง

สำหรับการดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเป็นกลุ่มเล็กแบบเป็นครอบครัว นายกรัฐมนตรี ขอให้รมว.ท่องเที่ยวฯ ช่วยเสริมช่องทางการติดต่อให้ความช่วยเหลือได้ทางอินเทอร์เน็ต สำหรับปัญหาของกลุ่มอัญมณีที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ จะมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มอัญมณีต่อไป นอกจากนี้ ในเรื่องของการดูแลนักท่องเที่ยว รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการดูแลให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นกรรมการ หากทางสมาคมการท่องเที่ยวรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวและแจ้งมา เจ้าหน้าที่ก็พร้อมเข้าช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ทั้งหมด

พร้อมขอให้ รมว.คมนาคม ประสานดูแลการจัดรถวิ่งอ้อมหลีกเลี่ยงเส้นทางบริเวณพื้นที่ชุมนุม ซึ่งอาจต้องใช้เวลาการเดินทางที่นานกว่าปกติแต่มีความปลอดภัย

ด้านนายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานสรุปสถานการณ์นักท่องเที่ยวปี 56 และแนวโน้มปี 57 รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ทำให้ขณะนี้มี 40 ประเทศทั่วโลกประกาศเตือนพลเมืองถึงการเดินทางมาประเทศไทย มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 300,000 คน รายได้ลดลงเกือบ 20,000 ล้านบาท

ส่วนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/57 ด้านอัตราการเข้าพักแรมกรุงเทพฯ ในเดือน ม.ค.57 คาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 30-40 อัตราการจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้า ม.ค.57 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% แต่มีแนวโน้มลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ (-9%) นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จากประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ลดลงอย่างชัดเจน รายได้ในเทศกาลตรุษจีน คาดว่าจะลดลงประมาณ 5,000 ล้านบาท

สำหรับมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เตรียมการไว้ประกอบด้วย กรณีเหตุการณ์ไม่รุนแรง 1.จัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว TOURIST FRIEND’S CENTER ฮอตไลน์ 1155 , 1672 ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย สนามกีฬาหัวหมาก 2. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม ที่สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจนครบาล ตำรวจรถไฟ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ สมาคมโรงแรม สมาคมรถโดยสาร ATTA

3. จัดจุดช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Help Desk) 5 จุด ได้แก่รถไฟฟ้า BTS สยาม พญาไท เอกมัย วงเวียนใหญ่ และ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หัวลำโพง โดยตำรวจท่องเที่ยว 4. จัดจุดบริการรับส่งนักท่องเที่ยว ไปสนามบิน (ในกรณีฉุกเฉิน) จำนวน 3 จุด ที่โรงแรมอีสตินแกรนด์ สาทร โรงแรมวินเซอร์สวีท สุขุมวิท 18 และโรงแรมทวินทาวน์เวอร์ 5. เพิ่มอาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 6. เพิ่มบริการรถไฟ ทั้งการเพิ่มเส้นทางการเดินรถไฟรางล่าง กรุงเทพฯ –สนามบินดอนเมือง การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์กรุงเทพฯ –สนามบินสุวรรณภูมิ กรณีเหตุการณ์รุนแรง ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว จะประเมินสถานการณ์ทุกวัน และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี 3 มาตรการหลักคือ 1. ประกาศให้นักท่องเที่ยวอยู่ในโรงแรม 2. ตำรวจท่องเที่ยวจัดชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 3. จัดหาที่พักสำรองบริเวณใกล้สนามบิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ