นักวิชาการนิด้าหนุนปฏิรูประบบราชการ, ปลดแอกการเมืองครอบงำ

ข่าวการเมือง Friday January 10, 2014 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เสนอโมเดลปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน ลงโทษทางแพ่งกับผู้กำหนดนโยบายประชานิยมที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ พร้อมดึงภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่น เลือกผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้คุณธรรมจริยธรรมข้าราชการประจำตกต่ำเหตุฝ่ายการเมืองเข้าครอบงำ

"ข้าราชการประจำถือเป็นเสาหลักของประเทศ เราต้องทำให้เสาหลักนี้กลับมาเข้มแข็ง ปลุกคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการไม่ให้เกรงกลัวอำนาจจากฝ่ายการเมือง ยึดความถูกต้องเพื่อประโยชน์ของประเทศมากกว่ากลุ่มพวกพ้องนักการเมือง ดังนั้นการปฏิรูปข้าราชการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ข้าราชการไทย เป็นผู้รับใช้ประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง" นายนิสดารก์ เวชยานนท์ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าว

นายนิสดารก์ กล่าวว่า วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือเป็นโอกาสการปฏิรูประบบราชการให้มีความแข็งแกร่ง ปราศจากการแทรกแซงของข้าราชการฝ่ายการเมืองที่มักเข้าครอบงำการทำงาน ทั้งการแต่งตั้งตัวแทนเข้ามาประจำในกระทรวงต่างๆ หรือเกิดการกลั่นแกล้งโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ข้าราชการประจำเกรงกลัวและต้องทำตามคำสั่งจากฝ่ายการเมืองแม้บางนโยบายจะส่งผลเสียต่อประเทศก็ตาม

ในฐานะที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์เป็นผู้ผลิตบุคลากรบริหารงานราชการแผ่นดินจึงได้จัดทำวิจัยเพื่อเสนอแนะให้แก่ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูประบบราชการไทยให้มีความเข้มแข็งผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน การปฏิรูปการบริหารงานบุคคลของภาครัฐ และการปฏิรูปการกำหนดนโยบายที่มีผลต่อการบริหารประเทศ เพื่อให้ข้าราชการประจำเป็นเสาหลักของประเทศได้อย่างแท้จริง

ที่ผ่านมามีการปฏิรูประบบราชการของไทย 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดในปี 2544-2545 ทำให้ระบบราชการกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือฝ่ายการเมือง โดยเป็นยุคที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายคนของฝ่ายการเมืองเข้ามาในกุมอำนาจในการบริหารงาน ทั้งในระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ส่งผลให้ข้าราชการประจำกลายเป็นผู้สนองนโยบายตามคำสั่งของข้าราชการฝ่ายการเมืองมากกว่าการทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือรับใช้ประชาชนเจ้าของประเทศ

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรเร่งกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ส่วนท้องถิ่น โดยเปิดให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารท้องถิ่นและพัฒนาชุมชนของตนเอง เช่น การเปิดโอกาสให้มีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำการวิจัยพบว่า ประชาชนในท้องถิ่นมีความต้องการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองมากกว่า

"การกำหนดนโยบายบริหารประเทศต่างๆ จากข้าราชการฝ่ายการเมือง หากนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลเสียต่อประเทศ เช่น โครงการประชานิยมต่างๆ ผู้กำหนดนโยบายให้ข้าราชการปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบด้วยการรับโทษคดีทางแพ่ง จากเดิมที่ข้าราชการประจำ มักถูกกล่าวโทษจากการปฏิบัติหน้าที่แต่เพียงฝ่ายเดียว" นายนิสดารก์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ