(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'57: ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ให้เลื่อนเลือกตั้งได้ เป็นอำนาจนายกฯ-ประธานกกต.

ข่าวการเมือง Friday January 24, 2014 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมติเอกฉันท์ว่า วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรสามารถกำหนดขึ้นใหม่ได้ และวินิจฉัยโดยเสียงข้างมากว่า การกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ผลการพิจารณา สรุปได้ดังนี้

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 214 บัญญัติว่าในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไปให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

ข้อเท็จจริงตามคำร้องเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญอ้างว่า การกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ผู้ร้องได้กำหนดช่วงระยะเวลารับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่าในช่วงระยะเวลาที่สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาปิดล้อมสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง และมีการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ผู้ดุแลความปลอดภัยจนมีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย

ผู้ร้องจึงแถลงการสำคัญแจ้งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ต่อมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2557 รับทราบแถลงการณ์สำคัญของผู้ร้อง และได้ส่งความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ผู้ร้องมีหน้าที่จัดให้มีการเลือกตั้งในวันเลือกตั้งตามกำหนด หากมีบุคคลใดมาขัดขวางการดำเนินการผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องย่อมสามารถพิจารณาบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้ และการเปลี่ยนแปลงวันลงคะแนนเลือกตั้งจะกระทำได้เฉพาะในกรณีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 78 เท่านั้น โดยเป็นอำนาจวินิจฉัยของผู้ร้องเอง

กรณีนี้จึงเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งกับคณะรัฐมนตรีโยนายกรัฐมนตรี จึงต้องด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นพิจารณาวินิจฉัยเป็น 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง วันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร จะกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ได้หรือไม่ อย่างไร ประเด็นที่สอง จะกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรใด

ประเด็นที่หนึ่ง วันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร จะกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ได้หรือไม่ อย่างไร สรุปได้ว่า บทบัญญัติมาตรา 108 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญก็มิได้บังคับเป็นการเด็ดขาดว่าการกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้เลย เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นขัดขวาง ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดเดิมไม่อาจดำเนินการให้บรรลุผลตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญได้ หรืออาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ความมั่นคงต่อรัฐ หรือภัยพิบัติสาธารณะอันสำคัญก็สามารถกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ จากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ตามสภาพการณ์แห่งความจำเป็น

ดังกรณีเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยที่ใช้รัฐธรรมนูญ ปี 40 ซึ่งวันเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 วันที่ 2 เม.ย.49 ต้องถูกกำหนดขึ้นใหม่ตาม พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2549 ที่ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่เป็นวันที่ 15 ต.ค.49 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดให้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 เม.ย.49 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการดำเนินการไปไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ประเด็นที่สอง การกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรใด สรุปได้ว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี จะต้องปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 235 บัญญัติให้ กกต.เป็นผู้ควบคุม และดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และวรรค 2 บัญญัติให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการณ์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการให้การเลือกตั้งเสร็จไปโดยชอบ

ด้วยพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้ง พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มาตรา 5 ก็บัญญัติให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อให้บุคคลทั้งสองเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นจึงเห็นว่า หากมีความจำเป็นจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่จากวันเลือกตั้งเดิมที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรี และประธาน กกต. ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายจะต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อปกป้องภัยพิบัติสาธารณะ และความเสียหายร้ายแรงมิให้เกิดแก่ประเทศชาติและประชาชนด้วยความสุจริต และถือประโยชน์ของประเทศชาติและสันติสุขของประชาชนเป็นสำคัญ หากมีเหตุที่นำไปสู่ความเสียหายร้ายแรง แก่ประเทศชาติหรือประชาชน อันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.การยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ชอบที่จะแจ้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ ตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี และประธาน กกต.ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เวลา 09.30 น. โดยมีการอภิปรายในประเด็นคำร้องของ กกต. และได้มีการแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนที่จะลงมติในคำวินิจฉัย ซึ่งแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 15.30 น. หลังจากนั้นเป็นการเตรียมเอกสารเพื่อแถลงต่อสื่อมวลชน จากนั้นในเวลาประมาณ 16.45 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงได้นำเอกสารแถลงข่าวมาแจกให้แก่สื่อมวลชน โดยไม่ได้เปิดแถลงข่าวแต่อย่างใด

รายงานข่าวแจ้งว่า ในประเด็นแรกคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 ว่าสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องอำนาจหน้าที่ในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น ตุลาการมีมติด้วยคะแนน 7 ต่อ 1 เห็นว่าให้เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ