(เพิ่มเติม) ศาลแพ่งสืบพยานคดีขอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"อภิสิทธิ์"นำทีมพยานโจทก์

ข่าวการเมือง Wednesday February 12, 2014 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลแพ่งได้นัดชี้สองสถาน โดยสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยในคดีที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1-3 พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพทั้งจังหวัด และปริมณฑลบางส่วน เพราะเป็นประกาศใช้ที่ไม่ชอบธรรมต่อผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้นายถาวรไม่ได้เดินทางมาด้วยตนเอง แต่มอบหมายให้ทนายเป็นผู้ดำเนินการแทน เนื่องจากอยู่ระหว่างถูกออกหมายจับ และได้เตรียมพยานขึ้นเบิกความ 4 ปาก ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นายปณิธาน วัฒนายากร อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)

ขณะที่ฝั่งจำเลยได้มอบหมายให้อัยการเป็นผู้เบิกความแทน พร้อมเตรียมพยานมาขึ้นเบิกความ 130 ปาก แต่ศาลได้ขอให้ลดจำนวนพยานลงไม่เกิน 10 ปาก

ในวันนี้ศาลได้กำหนดประเด็นไว้ 3 แนวทาง ประเด็นที่ 1.ก่อนมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง ให้สืบข้อเท็จจริงมาตามมาตรา 5 และมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประเด็นที่ 2.หลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก..ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 11 ที่มีกล่าวอ้างมีเหตุการณ์รุนแรงมีเหตุการณ์ใดบ้าง และประเด็นที่ 3 ศาลอยากทราบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 มีการโยกย้ายบุคคล หรือมีการใช้งบประมาณด้วยหรือไม่

นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความจำเลย ได้นำนายอรรถวิชช์ ขึ้นเบิกความเป็นปากแรก สรุปว่า เหตุที่มีประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลมีความพยายามที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. และมาตรา 190 ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 68

รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องโครงการจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ให้มีการจัดประมูลขายข้าวเป็นการทั่วไป และยังมีความพยายามที่จะกู้เงินมาเพื่อชำระหนี้ โดยการกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ลุแก่อำนาจฝ่ายบริหาร และยังเป็นการสมรู้ร่วมคิดระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้กฎหมาย เมื่อประชาชนเห็นว่ารัฐบาลกระทำการที่ไม่ชอบธรรมก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะออกมาชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่รัฐบาลไม่มีสิทธิจะออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเพื่อเป็นเครื่องมือกีดกั้นประชาชนในการใช้สิทธิของตน และหลังจากที่มีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐบาลยังไม่ได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุม ก็เพราะการชุมนุมนั้นเป็นไปด้วยความสงบยังไม่มีเหตุรุนแรง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะใช้กำลังเข้ามาสลายการชุมนุม

ต่อมานายปณิธาน ขึ้นเบิกความถึงขั้นตอนการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯว่า ตามหลักสากลได้มีการกำหนดระดับความมั่นคงในการประกาศใช้กฎหมายเป็น 5 ระดับ ประกอบด้วย 1.มีการคุกคามร้ายแรงที่สุด เช่น ภัยสงคราม หรือกองกำลังทหารขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาคุกคามประเทศจะให้ประกาศใช้กฎอัยการศึก 2. ภาวะสงครามกลางเมืองจะมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง 3. สถานการณ์ก่อการจลาจลจะประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระดับธรรมดา 4. การชุมนุมขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายและเป็นการคุกคามภายในประเทศ จะประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทยคือพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และ 5. ระดับการเฝ้าระวัง ที่จะมีการเตรียมการบางอย่างกระทบต่อความมั่นคง ก็จะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงระดับเบา

ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เห็นว่าตามหลักวิชาการและประสบการณ์จัดการการชุมนุมที่ผ่านมาในยุค ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็เพียงพอ ซึ่งการประกาศของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเมื่อพิจารณารายละเอียดในข้อกำหนดที่ประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่ามุ่งจับกุมและอายัดบัญชีผู้ชุมนุม โดยไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง

ในช่วงบ่าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเบิกความต่อศาล โดยระบุว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นการชุมนุมโดยสิทธิและเสรีภาพ ปราศจากอาวุธ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองสิทธิไว้แล้วประกาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และชลบุรี ปี 2552 จำนวน 2 ครั้ง ปี 2553 จำนวน 1 ครั้ง

ลักษณะการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แตกต่างกับการชุมนุมของกปปส. ซึ่งเป็นการชุมนุมเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มนปช.ใช้ความรุนแรง เช่น ปิดล้อมศาลอาญา บีบบังคับให้มีการปล่อยตัวนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และการบุกรุกเข้าไปในรัฐสภาโดยมีอาวุธ ซึ่งศาลแพ่งเคยชี้ว่าการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเป็นการชุมนุมเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ ขณะที่การชุมนุมของนายสุเทพ ถูกปาระเบิดเข้าไปในที่ชุมนุมซึ่งไม่มีอาวุธ จึงเป็นลักษณะการข่มขู่ผู้ชุมนุม

นายอภิสิทธิ์ มองว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องเกิดเหตุร้ายจนมีความจำเป็นระงับยับยั้ง แต่การชุมนุมของกลุ่มกปปส.ไม่มีการประทุษร้าย ก่อการร้าย หรือผู้ชุมนุมจะมีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใดและไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเมื่อมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่มีการออกข้อกำหนดภายในวันเดียวกันได้ตามมาตรา 9 แต่มุ่งหวังจับกุมผู้ชุมนุม ตามตรา 11 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พร้อมมองว่า การชุมนุมของกปปส.เป็นการประท้วงในรูปแบบอารยะขัดขืน ไม่ใช่การกระทำรุงแรง และไม่ได้มีการปิดล้อมสถานที่ราชการ ซึ่งข้าราชการยังสามารถเข้าไปทำงานได้ และเห็นว่าการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพระมุ่งหวังทางการเมืองมากกว่าแก้ไขสถานการณ์ เอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง กีดกั้นไม่ให้แสดงความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้เบิกความต่อศาลว่าในครั้งที่เป็นรัฐบาลและมีการชุมนุมของกลุ่มนปช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ศอฉ. เป็นการมอบหมายเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ และมีการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นงบกลางในการปฏิบัติงานด้วย

ด้านนายถวิล เปลี่ยนศรี ขึ้นเบิกความต่อศาล โดยระบุว่า สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามมาตรา 11นั้น การชุมนุมของ กปปส.ยังไม่เข้าเงื่อนไขพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง และเห็นว่ามาตรการตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เพียงพอต่อการแก้ไขสถานการณ์แล้ว และการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มุ่งหมายแก้ปัญหาด้านการเมือง มุ่งจำกัดการเคลื่อนไหวผู้ชุมนุม เช่นการขอหมายจับแกนนำกปปส. มากกว่าแก้ไขสถานการณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ