ศรส.จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่ง กังวลใช้อำนาจไม่เต็มที่เกิดสูญญากาศ-เสี่ยงวุ่น

ข่าวการเมือง Thursday February 20, 2014 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) แถลงว่า ศรส.จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งในคดีที่แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)ที่ร้องคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากศาลสั่งห้ามกระทำการ 9 ข้อที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องใช้เวลานานพอสมควรนั้น ศรส.มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งที่ ศรส.และเจ้าหน้าที่ของ ศรส.จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ สภาวะเสมือนสูญญากาศที่ขาดการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้จึงเป็นความเสี่ยงสูงต่อการที่สังคมจะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่สงบสุขมากขึ้นอีก เพราะกลุ่มประชาชนทั้งที่เห็นด้วยกับ กปปส. และที่ไม่เห็นด้วย ต่างก็มีจำนวนมากมายด้วยกันทั้งคู่

และด้วยความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการกีดขวางการจราจรตามถนนและสี่แยกต่างๆ เพราะ กปปส.สามารถเคลื่อนการชุมนุมไปตามสถานที่ต่างๆ ได้โดยเสรีตามใจชอบ จนเกิดภาวะวิกฤติในเมืองหลวงของประเทศ การปิดล้อมสถานที่ราชการ การขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน โดยเฉพาะความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ มิติและทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงอาจเกิดการกระทบกระทั่งและเข้าจัดการกันเองในระหว่างประชาชนได้ เพราะภาครัฐไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง

"นับจากวันนี้เป็นต้นไป ศรส.ก็จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายเรื่องจนอาจเกิดความเสียหาย อาทิเช่น การแก้ไขปัญหามิให้ กปปส.ออกมาขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะมาถึงในเร็ววัน การเข้าปิดล้อม ปิดสถานที่ราชการให้กลับไปปิดการให้บริการประชาชนอีก และการกระทำของ กปปส. ต่างๆ นานา ซึ่งสังคมและพี่น้องประชาชนก็พบเห็นอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และมีแต่จะสร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา"

นายธาริต กล่าวว่า กรณีที่ศาลแพ่งอ้างผลของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า การชุมนุมของ กปปส. เป็นไปโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ จึงเป็นการชุมนุมโดยชอบนั้น ศรส.เห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงในการชุมนุมช่วงแรกของ กปปส.แต่ต่อมาเมื่อเงื่อนไขของการชุมนุมคือการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมได้จบสิ้นไปแล้ว กปปส.ก็มิได้เลิกการชุมนุมกลับยกระดับเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล มีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาและการสื่อสารด้วยวิธีการต่างๆ อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐบาลและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่และให้มีการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน

มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล จัดตั้งสภาประชาชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครรักษาการแทนตำรวจขึ้นเป็นการเฉพาะ บุกรุกและปิดยึดสถานที่ราชการ ขับไล่ข้าราชการให้เลิกปฏิบัติหน้าที่ การสั่งให้หยุดงาน การสั่งให้หยุดการเสียภาษี ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ราชการ ตั้งกองกำลังไล่ล่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพิ่มเวทีการชุมนุมมากขึ้น ปิดการจราจรในถนนสำคัญๆ จนถึงประกาศปิดกรุงเทพมหานคร รวมถึงกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในภาคใต้ เป็นต้น

"การกระทำของ กปปส.แม้จะชอบด้วยกฎหมายในช่วงแรก แต่หากต่อมาเป็นไปโดยผิดกฎหมายก็จะต้องพิจารณาแยกส่วนกัน มิใช่ว่าจะกระทำใดๆ ก็ได้ตามอำเภอใจก็จะกลายเป็นชอบไปหมดทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ศาลอาญาจึงได้ออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมแกนนำอีกหลายคนในข้อหาเป็นกบฏ โดยศาลอาญาก็วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นคนละกรณีกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย" นายธาริต กล่าว

นายธาริต กล่าวว่า การที่รัฐบาลได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจัดให้มีหน่วยงานในลักษณะพิเศษ คือ ศรส.เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในภาวะไม่ปกติและเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้สามารถคลี่คลายนำความสงบสุขกลับสู่ประเทศชาติได้ดังเดิมโดยเร็วที่สุด ซึ่ง ศรส.ไม่ใช่ศัตรูหรือคู่ขัดแย้งกับ กปปส.แต่มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมเพื่อนำสังคมและประเทศชาติกลับสู่ความสงบสุขโดยเร็ว

นับแต่รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้ง ศรส.เป็นต้นมาถึงวันนี้รวม 31 วัน ศรส.โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ เช่น สามารถดำเนินการให้สถานที่ราชการกลับมาเปิดทำการเพื่อให้บริการประชาชนได้ถึง 53 แห่งแล้วจากการที่ กปปส.ได้ดำเนินการปิดกรุงเทพฯ และสถานที่ราชการทุกแห่งไว้ อีกทั้งสามารถดำเนินคดีที่ กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้งได้ถึง 332 คดี และศาลออกหมายจับให้แล้ว 118 คน ได้ตัวมาดำเนินคดีแล้ว 35 คน

นอกจากนี้ยังดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส.ได้ 58 คน ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา คือ 1.ร่วมกันกระทำการเป็นกบฏตามมาตรา 113 และมาตรา 114 2.ร่วมกันยุยงส่งเสริมให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายตามมาตรา 116 และ 3.ร่วมกันมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมาตรา 215 รวมทั้งศาลได้ออกหมายจับ ประเภทหมาย ฉ.ให้แล้ว 19 คน กับที่ศาลนัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 อีกจำนวนหนึ่ง ตลอดจนได้บริหารจัดการเรื่องที่มีความสำคัญต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ