(เพิ่มเติม) "เฉลิม"จะยื่นศาลแพ่งถามความชัดเจนหลังสั่งคุ้มครองการชุมนุมแม้ไม่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ข่าวการเมือง Thursday February 20, 2014 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กล่าวว่า ในช่วยบ่ายวันนี้เตรียมส่งคำร้องถึงอธิบดีศาลแพ่ง ถามความชัดเจนเกี่ยวกับคำสั่งศาลแพ่งมีคำสั่งไม่ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม และข้อห้าม รวม 9 ข้อ เนื่องจากต้องการความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฎิบัติหน้าที่อย่างไร หากผู้ชุมนุมยังปิดล้อมสถานที่ราชการ รวมถึงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนใหญ่
"จะทำเป็นข้อคำถามต่อศาลเพื่อขอความชัดเจนก่อนกำหนดแนวทางปฏิบัติ อาทิ ขอถามว่าหากกรณีพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลที่มีการซ่องสุมอาวุธ และมีบุคคลที่ถูกออกหมายจับ การปิดยึดสถานที่ราชการ ชุมนุมกีดขวางการจราจร และปิดล้อมบริษัทเอกชน ถือว่าเป็นการชุมนุมหรือไม่ จะเข้าข่ายการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตำรวจจะสามารถจับกุมดำเนินคดีได้หรือไม่ และการกระทำของตำรวจจะละเมิดคำสั่งศาลหรือไม่ เพื่อจะได้รู้ว่าตำรวจควรดำเนินการอย่างไร โดยคาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่ออธิบดีศาลแพ่งได้ช่วงบ่ายวันนี้" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เมื่อทราบคำอธิบายจากศาลแพ่งแล้ว ศรส.จะได้มีความชัดเจนในการปฏิบัติเพื่อดูแลการชุมนุม แต่หากศาลเห็นว่าตำรวจทำไม่ได้ ศรส.ก็พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่ง โดยการยื่นคำร้องในนาม ผอ.ศรส.ไปที่อธิบดีศาลแพ่ง จะเป็นคำร้องสอบถามไม่ใช่คำอุทธรณ์ เป็นการถามอธิบดีศาลแพ่งโดยตรง เพราะไม่เช่นนั้น ศรส.จะทำงานไม่ได้ ทั้งนี้เป็นคนละส่วนกับการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายกฎหมายของ ศรส.จะดำเนินการ โดยคำร้องดังกล่าวของ ศรส.จะดำเนินการเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนด้วย

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังรู้สึกสบายใจแม้ศาลแพ่งจะพิพากษาไม่ให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม และห้ามจับกุมผู้ชุมนุมที่ชุมนุมเกินกว่า 5 คน เพราะจะได้ไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเสี่ยงอันตรายในพื้นที่อีก และขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งให้สลายการชุมนุม หรือสกัดกั้นสิ่งของอุปโภคบริโภค รวมถึงยาเวชภัณฑ์ของผู้ชุมนุม และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาล ส่วนกรณีหากมีบุคคลออกมาร้องต่อศาลให้เพิกถอนหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย

"ศาลบอกว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ ซึ่งวันนี้การชุมนุมมีอยู่ 4-5 แห่ง นายสุเทพประกาศว่าจะออกเคลื่อนมวลชนทุกวัน อาละวาดหมด อย่างนี้ศาลคุ้มครองหรือไม่ ถ้าคุ้มครองก็ปล่อยทำไปตามใจชอบ นายสุเทพบอกว่าจะบุก ศรส. ถ้าศาลบอกว่าเป็นการแสดงออกตามประชาธิปไตย ก็บุกเข้ามา ยกให้นายสุเทพไป ผมยังไม่เคยสลายม็อบ แต่ม็อบมาสลายตำรวจ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาถ้านายสุเทพไม่มาจะไม่มีเรื่องอะไรเลย และถ้าศาลบอกว่าชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล มีหมายจับ มีอาวุธ มีบังเกอร์ ตั้งฐานขึ้นมาเหมือนกับสมรภูมิรบ ถือว่าเป็นการชุมนุม ตำรวจเข้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็ให้อยู่ไป ถ้าศาลบอกว่าที่กระทรวงมหาดไทยบุกรุกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุม นายถาวร เสนเนียม เป็นคนคุม บอกว่าทำได้ก็ว่าไป ผมก็เรียกตำรวจกลับเข้าที่ตั้ง" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษา แต่ระบุว่าตนเองมีสิทธิถามศาลในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง และมีหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าไม่มีหน้าที่คงไม่กล้าถาม ตนเองมีสิทธิที่จะถาม ส่วนถ้าศาลไม่ตอบก็เป็นเรื่องของศาล

"อะไรที่ไม่ถูกต้องไม่ว่าที่ไหน สังคมไทยวันหนึ่งก็แสดงออก วันนี้ม็อบจะบุกทุกกระทรวง ทบวง กรม ผมไม่กล้าสั่งตำรวจ ผมไม่รู้ว่าความหมายของศาลมีแค่ไหน ตำรวจก็ไม่กล้าไปสังเกตการณ์ พอเขารู้ว่าเป็นตำรวจเขาก็กระทืบเอา เขาจับไปผูกตา อย่าลืมว่าม็อบ กปปส.ก็มีศัตรู เมื่อวานได้ข่าวว่าไปถูกยิง คนเขาเกลียดก็มี ใครรักสุเทพมากนักผมจะเตือนไว้ไปกันใหญ่แล้วบ้านเมือง ตำรวจไปในม็อบ ม็อบรู้ว่าเป็นตำรวจก็กระทืบ ตำรวจพกปืนก็หาว่าพกไม่ได้ ทำไมจะพกไม่ได้ ระเบียบเกี่ยวกับคดี ผู้บังคับบัญชาอนุมัติให้พกได้ บ้านเมืองก็เป็นมาอย่างนี้ สงบสุขมาตลอด ต้องมาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ศาลสั่งมาอย่างไรผมทำตามนั้น เมื่อปี 53 พรรคเพื่อไทยไปร้อง ศาลแพ่งบอกว่าเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร และได้ยกคำร้อง พรรคเพื่อไทยไปอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยืน บอกเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ศาลแพ่งยุคนี้ให้ออก พ.ร.ก. แต่มีข้อกำหนด 9 ข้อก็ว่ากันไป ผมจะถามขอความรู้ท่าน" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังไม่ได้สั่งถอนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากพื้นที่การชุมนุมทุกจุด แต่ถ้าศาลแพ่งบอกว่าตรงนั้นเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย มีม็อบบุกไปแล้วทำอะไรไม่ได้ ตนเองจะสั่งถอนกำลังออก

ส่วนกรณีที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนมีการเคลื่อนไหวทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยระบุว่าอยากจะวางมือ และให้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารมาดูแลสถานการณ์แทนนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่เห็นใจตำรวจที่ไปมือเปล่าถูกฆ่า กลับมาพิการจากอาวุธสงคราม แถมยังถูกประณามว่าตำรวจใช้ความรุนแรง และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เข้าไปดูแลความเรียบร้อยในสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะศาลสั่งห้ามไปยุ่งกับม็อบ ตำรวจก็ไปไม่ได้ ไปสลายก็ไม่ได้ ถ้าตำรวจไปสังเกตการณ์ ถูกกระทืบ ถูกปิดตา

"จะไปละเว้นอย่างไร เพราะศาลสั่งห้ามไว้ ตำรวจทั้งหลาย ถ้าศาลท่านยืนยันอย่างนี้ก็สบายกันสักที" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับนายกรัฐมนตรีเรื่องคำพิพากษาของศาลแพ่ง และที่มีคนบอกว่าจะไปฟ้องนายกรัฐมนตรีนั้นคือพวกโง่ นายกรัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ส่วนนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาทำงานที่ ศรส.หรือไม่นั้น ตนเองไม่ทราบ "ถ้ามาที่นี่ดี ปลอดภัย ตำรวจน่ารัก บรรยากาศดี"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ