(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'57: ผู้ตรวจการฯ เสนอศาลรธน.วินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ

ข่าวการเมือง Friday March 7, 2014 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ตามที่นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อจ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อ 19 ก.พ.57 กรณีการออกประกาศและการดำเนินการต่างๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อันมีผลทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่ได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรมขัดกับหลักความเสมอภาค และเป็นไปโดยไม่ให้โอกาสที่ทัดเทียมกันของผู้สมัครและพรรคการเมือง และทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 102 มาตรา 108 และมาตรา 30 นั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกันแล้ว มีความเห็นว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.57 ตามพ.ร.ฎ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรคสอง มาตรา 30 วรรคแรก ประกอบมาตรา 235 และมาตรา 236(1) (2) จึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.25502 มาตรา 245(1) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 6 มี.ค.57

โฆษกผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้ กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ และขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากคำร้องของนายกิตติพงศ์ ในครั้งนี้แตกต่างจากที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เคยร้องไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพราะคำร้องในครั้งนี้ได้อ้างถึงเหตุที่เกิดขึ้นจริงซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 1.ยังมีอีก 28 เขตที่ยังไม่สามารถจัดการเลือกได้ 2.การเปิดรับสมัครไม่ได้ จากอุปสรรคที่มีเหตุวุ่นวายต่างๆ เกิดขึ้น 3.ในระหว่างมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ยังได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 4.มีการเปิดเผยผลการนับคะแนนบางหน่วยเลือกตั้งไปก่อน ซึ่งอาจเป็นการชี้นำ และ 5.การนับคะแนนการเลือกตั้งล่วงหน้าต้องเสร็จสิ้นก่อนการนับคะแนนในวันเลือกตั้ง

"การพิจารณาคำร้องของอาจารย์ธรรมศาสตร์ เนื่องจากคำร้องครั้งนี้ได้หยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาประกอบโยงกับข้อกฎหมายให้เห็น ซึ่งแตกต่างจากคำร้องในก่อนหน้านี้ที่นายวิรัตน์ ได้ยื่นไว้นั้น เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น" นายรักษเกชา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ