"เฉลิม"ชี้ควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุคำสั่งศาลแพ่งทำให้บังคับใช้กม.ไม่เต็มที่

ข่าวการเมือง Wednesday March 12, 2014 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) ให้สัมภาษณ์กรณีการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า จากสถานการณ์การเมืองขณะนี้เห็นว่ายังไม่สงบ และยังไม่ได้รับสัญญาณจากคณะรัฐมนตรี แต่ได้บอกเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ไปว่าควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะนับตั้งแต่ศาลแพ่งมีข้อห้าม 9 ข้อ คณะทำงาน ศรส.แทบจะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ แต่เมื่อมีชื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ ต่างชาติก็วิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนจะใช้กฎหมายใดมาดูแลความสงบก็สุดแต่นายกรัฐมนตรี เพราะหลักกฎหมายมีอยู่แล้ว ทั้งหลักกฎหมายทั่วไปที่ใช้อยู่ตลอด หรือจะใช้พระราชบัญญัติความมั่นคง
"ส่วนตัวเห็นควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยหากมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเชื่อมโยงกับกระทรวงยุติธรรม และรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลงานควรเป็นนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม หรือนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ซึ่งกำกับดูแลการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนตนเป็น รมว.แรงงานไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ และมองว่าการทำงานในหน้าที่ ผอ.ศรส.เป็นงานในสถานการณ์พิเศษ หากไม่ใช่สถานการณ์พิเศษ รมว.แรงงานก็ไม่ควรมีหน้าที่" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ส่วนการชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ประมาณกลางเดือนหน้านั้น ผอ.ศรส. กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่เป็นห่วงนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้ลงในรายละเอียด แต่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว(กนข.) เดิมไม่มีชื่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวข้อง มีเฉพาะ รมว.พาณิชย์ และรมช.พาณิชย์ ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลตัดสินให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยรองนายกรัฐมนตรีต้องมาปฏิบัติหน้าที่แทนก็จะมีผลกระทบ เพราะลำดับความสำคัญไม่เหมือนกัน นายกรัฐมนตรีได้รับการยอมรับจากประชาชนสูง หากให้คนอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าถ้า ป.ป.ช.เขียนมามีเหตุมีผล ความรุนแรงก็จะไม่เกิด แต่ถ้าเขียนออกมาแล้วค้านสายตาคนดู ก็อาจจะเกิดเรื่องจากเบาไปหาหนัก เพราะมีผู้รักความเป็นธรรมอยู่ ทั้งนี้ไม่ได้มองว่าค้านสายตาคนเสื้อแดงอย่างเดียว แต่คนทั้งประเทศดูอยู่

"ถ้าอย่างนั้นต่อไปใครจะเป็นรัฐบาล มีนโยบายอะไรก็ต้องไปขออนุญาต ป.ป.ช. ขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญ ขออนุญาต กกต. ถ้า 3 หน่วยงานนี้อนุมัติถึงมาแถลงต่อรัฐสภาได้ โครงการจำนำข้าวเป็นนโยบาย นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลไปให้ท่านรับผิดชอบ มันห่าง แต่ตอนนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้วจะทำอย่างไร เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะปฏิรูป เอาเลย จากนี้ต่อไปใครเป็นรัฐบาลต้องเอานโยบายไปขออนุมัติ ป.ป.ช. ขออนุมัติศาลรัฐธรรมนูญ ขออนุมัติ กกต. แล้วถึงทำงานได้" ผอ.ศรส. กล่าว

สำหรับวันนี้ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยลงมติว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ผอ.ศรส. กล่าวว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ากู้ไม่ได้ก็ไม่มีเงินมาพัฒนาประเทศ, รถไฟความเร็วสูง, รถไฟรางคู่, ความเจริญในท้องถิ่น, การเชื่อมต่ออาเซียนไปเวียดนาม, ไปจีน, ไปคุนหมิง, ลงภาคใต้ก็ไม่มีวันสร้าง ต่างจังหวัดแทนที่ที่ดินจะแพงขึ้น ความเจริญจะดีขึ้นก็จะไม่มี รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่ก็มีคนมาร้องว่าถ้ากู้ไม่ได้รัฐบาลต้องออก แล้วจะให้ออกไปไหน ขอให้รอ ป.ป.ช.ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ