(เพิ่มเติม) ศาลรธน.วินิจฉัยพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านลบ.ขัดรัฐธรรมนูญทั้งเนื้อหา-กระบวนการ

ข่าวการเมือง Wednesday March 12, 2014 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีมติวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....(พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท) ขัดรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนของเนื้อหา และกระบวนการ โดยในส่วนของเนื้อหานั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรค 1 และมาตรา 170 ส่วนในเรื่องของกระบวนการตราร่างกฎหมายนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก

สำหรับการพิจารณาในประเด็นแรกว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น จากพยานหลักฐาน การไต่สวนเป็นที่ยุติว่านายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน ส.ส.รายอื่นในการประชุมสภาฯ ที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สอง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณหรือไม่นั้น ศาลพิจารณาเห็นว่าเมื่อเงินกู้ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินแผ่นดิน การใช้จ่ายต้องขึ้นอยู่ในบังคับแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรค 1 ที่บัญญัติว่าการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย, กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ, กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลจะจ่ายไปก่อน แต่ต้องเป็นไปในลักษณะและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป

แต่ตามข้อเท็จจริง การดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน การใช้จ่ายเงินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งการตรากฎหมายฉบับนี้นำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ได้โดยไม่ต้องนำส่งตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณางบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จึงแตกต่างจาก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ทำให้การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นจึงมีมติเอกฉันท์ว่าว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

"ด้วยเหตุผลทั้ง 2 นี้ จึงมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรค 3"
          เมื่อวันที่ 19 มี.ค.56 ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....(พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท)  โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังสามารถกู้เงินตราต่างประเทศหรือเงินบาทเพื่อนำมาใช้ลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในช่วง 7 ปี ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
          (1) ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นโครงข่ายการขนส่งหลักของประเทศ แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำและชายฝั่ง และแผนงานพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเพื่อเชื่อมโยงกับฐานการผลิตและฐานการส่งออกที่สำคัญของประเทศ
          (2) ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาประตูการค้าหลักและประตูการค้าชายแดน แผนงานพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค
          (3) ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว ซึ่งประกอบด้วยแผนงานพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง และแผนงานพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภายในประเทศ
          ต่อมาวันที่ 28 มี.ค.56 รัฐบาลได้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่มีการพิจารณาจะถูกฝ่ายค้านโจมตีว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการสร้างภาระหนี้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศชาติโดยไม่มีความจำเป็น และช่วงวันที่ 19-20 ก.ย.56 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษได้พิจารณารับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระ 2 และวาระ 3
          หลังจากนั้นวันที่ 7 ต.ค.56 ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และวันที่ 8 ต.ค.56 ที่ประชุมฯ ได้ลงมติรับหลักการในวาระแรกด้วยคะแนน 86 ต่อ 41 งดออกเสียง 8 โดยให้ตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คนขึ้นมาศึกษาเนื้อหาและแปรญัตติภายใน 7 วัน และพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 19-20 พ.ย.56 ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 63ต่อ 14 เมื่อเวลา 02.49 น.
          หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญตีความตามรัฐธรรมนูญ 154 ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ทันทีที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา
          เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.56 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์ และวันที่ 25 ธ.ค.56 ศาลมีคำสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทำเอกสารชี้แจงและมาให้ถ้อยคำในการพิจารณาคำร้องดังกล่าว ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือผู้แทน ในฐานะผู้เสนอความเห็น, นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร, นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน, รมว.คลัง, รมว.คมนาคม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, นายพิสิฐ ลี้อาธรรม, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, น.ส.สุภา ปิยะจิตติ, นายทนง พิทยะ และนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล
          วันที่ 8 ม.ค.57 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานคำร้องค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ยังเหลือพยานในส่วนของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลยังไต่สวนไม่ครบอีก 5 ราย จึงได้นัดไต่สวนพยานอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ.57 พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องในคดีดังกล่าวส่งคำแถลงปิดคดีมาให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 27 ก.พ.57
          และล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มี.ค.57 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดแถลงด้วยวาจา และลงมติในคดีดังกล่าวในวันนี้



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ