ศาลรธน.รับคำร้องกกต.ยื่นตีความ 28 เขตว่าต้องออกพ.ร.ฎ.ใหม่หรือไม่

ข่าวการเมือง Wednesday March 12, 2014 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กรณีที่ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป

โดยคำร้องนี้ กกต.ในฐานะผู้ร้องอ้างว่าตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.57 และมีการกำหนดช่วงเวลาการรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมมาปิดล้อมสถานที่รับสมัครเลือกตั้งเป็นผลให้ 28 เขตไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

ซึ่ง กกต.เห็นว่าไมมีบทบัญญัติในมาตราใดให้อำนาจ กกต.ในการประกาศกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งขึ้นใหม่ หรือวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม จึงมีมติขอให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเสนอให้มีการตรา พ.ร.ฎ. ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งมายังประธาน กกต.ให้ทราบว่าได้ส่งเรื่องและความเห็นของ กกต.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาแล้ว ซึ่งมีความเห็นแตกต่างจากความเห็นของกกต.ว่า การตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ผู้ร้องมีอำนาจในการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติมกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งการประกาศงดเว้นการจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักรนั้นไม่สามารถกระทำได้ แต่เป็นอำนาจของผู้ร้องที่สามารถกระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ, พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.

ต่อมาผู้ร้องได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและยืนยันความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อที่ผู้ร้องจะได้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเรียนเลขาธิการ กกต.โดยแจ้งให้ทราบว่า คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวและมีมติรับทราบคำชี้แจงแล้ว

กกต.จึงเห็นว่ากรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นกรณีที่เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง กกต.กับคณะรัฐมนตรี อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องดังกล่าวเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.และครม.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 จึงมีมติเสียงข้างมากมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันนี้มีมติไม่รับคำร้อง 2 เรื่อง คือ กรณีที่นายไทกร พลสุวรรณ และนายเศวต ทินกูล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายกรัฐมนตรีกระทำการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่

และศาลยังไม่รับคำร้องกรณีนายถาวร เสนเนียม ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า คณะรัฐมนตรีกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องยังไม่มีมูลตามที่ผู้ร้องระบุ กรณีนี้จึงยังไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ