"อภิสิทธิ์" ปัดต่อรอง-มีผู้อยู่เบื้องหลังเดินสายเจรจา เตรียมจัดทำข้อเสนอต่อสังคม

ข่าวการเมือง Tuesday April 29, 2014 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการเข้าหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ทั้งกกต.และตนต่างเห็นตรงกันว่าด้วยสภาพบรรยากาศของบ้านเมืองในขณะนี้ เป็นเรื่องยากที่จะทำให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงได้มีการนำเสนอบางแนวทางที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่ กกต.น่าจะมีอำนาจและอยู่ในวิสัยที่จะออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งหน้ามากขึ้น
"ผมนำเสนอไปว่า สิ่งที่ผมกำลังทำในอีก 3-4 วันข้างหน้า คือความพยายามที่จะช่วยหาคำตอบให้ ซึ่งกกต.จะเอาความเห็นนี้ไปสะท้อนกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่จะพบกันวันพรุ่งนี้ แต่ในส่วนของ กกต.นั้น อะไรที่เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของท่าน ท่านก็ต้องเดินหน้าไป พรุ่งนี้ กกต.จะพบรัฐบาล ผมคิดว่าถ้ารัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ ที่บอกว่าอยากจะเปิดโอกาสให้ผมทำงาน ก็น่าจะเอาความเห็นหรือความห่วงใยที่สะท้อนผ่าน กกต.ในวันนี้ ไปประกอบการพิจารณาของท่านในวันพรุ่งนี้ด้วย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

พร้อมยืนยันว่า การไปพบปะกับแต่ละกลุ่มบุคคล, องค์กร หรือพรรคการเมืองเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประกอบการจัดทำข้อเสนอเพื่อหาทางออกประเทศในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการไปทำหน้าที่เจรจาต่อรองแต่อย่างใด แต่เป็นการไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรเพื่อเป็นทางออกให้แก่บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมยืนยันว่าการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ไม่มีบุคคลระดับสูงอยู่เบื้องหลัง

"หลายคนพยายามตีความว่าเป็นการเจรจาต่อรอง เพราะฉะนั้นเมื่อผมเจอกับคู่ขัดแย้ง ผมจึงต้องระมัดระวังมาก เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปเจรจาต่อรองอะไรกับเขา ผมเสนอกรอบวิธีการที่จะนำบ้านเมืองกลับสู่ปกติให้มากที่สุด โดยมีการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญสำเร็จที่ปลายทาง ยืนยันว่าไม่มีการต่อรองใดๆ ทุกกลุ่มที่ไปพบก็พบโดยเปิดเผย ไม่มีการพบปะกันในทางลับ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมามีความขัดแย้งและความหวาดระแวงในสังคมสูงมาก ซึ่งยอมรับว่าถูกคนหวาดระแวงจากทั้งฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายเดียวกันเอง ดังนั้นการนำสิ่งที่จะเป็นข้อเสนอซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละข้อเสนอมีความเกี่ยวพันหรือสัมพันธ์กันอย่างไร และจะเป็นตามความปรารถนาของฝ่ายไหน หรือจะไม่ถูกใจอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าเลือกวิธีการนำเสนอแล้วทำให้ทุกคนมีปฏิกิริยาตอบกลับมาแค่เพียงไม่ถูกใจ ไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีประโยชน์

"เพราะฉะนั้นขอเวลา เมื่อผมจัดทำข้อเสนอ ผมต้องคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำเสนอและอยากให้สังคมใช้เหตุใช้ผลกับมัน เป็นไปได้ใช้เวลา 2-3 วันหรืออยากซักถามเพิ่มเติมก็ได้ ดีกว่าจะบอกแค่ว่ารับ หรือไม่รับ โดยที่ไม่เอาเหตุผลมาวางกัน" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากทุกฝ่ายยอมรับตามแนวทางที่เสนอ พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะตอบรับและเดินหน้าตามแนวทางนั้นด้วยเช่นกัน

"ถ้าฝ่ายต่างๆ ตอบรับ ผมก็ต้องให้พรรคประชาธิปัตย์ตอบรับ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พร้อมฝากว่าที่สำคัญคือ รัฐบาลอย่าเพิ่งปิดทางเลือกหรือทางออกของประเทศที่จะได้มีการนำเสนอเพิ่มเติม ด้วยการยึดติดอยู่กับความคิดว่าจะต้องเร่งรัดให้การเลือกตั้งเกิดเร็วขึ้น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีคำตอบให้แก่ประชาชนในวงกว้างเรื่องของการปฏิรูป หรือการเลือกตั้งที่จะมีบรรยากาศที่จะแตกต่างจากการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ได้อย่างไร

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า ข้อเสนอในการหาทางออกให้แก่ประเทศนั้น เป้าหมายสุดท้ายปลายทางคือ การปฏิรูป แต่เป็นการปฏิรูปที่เกิดขึ้นได้ตามรัฐธรรมนูญมีกฎหมายรองรับ โดยเชื่อว่าเป้าหมายนี้ไม่น่าจะขัดแย้งกับฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่ยอมรับว่าทุกฝ่ายห่วงใยว่าข้อเสนออาจจะมีปัญหาหรือมีจุดอ่อน ซึ่งก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ขณะเดียวกันมองว่าไม่มีความจำเป็นใดที่ขณะนี้จะต้องปิดกั้นหรือจำกัดทางเลือกของประเทศ

นายอภิสิทธิ์ ยังให้ความเห็นว่าการมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง โดยยังไม่มีการสร้างบรรยากาศร่วมกันที่จะสร้างความมั่นใจต่อกระบวนการการเลือกตั้งแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไม่สามารถหลุดพ้นไปจากความขัดแย้งได้ และถ้าไม่สามารถสร้างบรรยากาศที่ว่าได้ การเลือกตั้งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามากกว่าคำตอบ

"ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาได้ การเลือกตั้งเร็วก็ดีกว่าเลือกตั้งช้า แต่ถ้าเลือกตั้งเร็วแล้วยังขัดแย้งกันต่อ กับถ้าเลือกตั้งช้าสักนิดนึง แล้วมันสงบ ผมมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศก็อยากให้ช้าสักนิด แต่เรียบร้อย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ