(เพิ่มเติม) "สุเทพ"ถกกกต.ยันไม่ปฏิเสธเลือกตั้ง แต่ต้องปฎิรูปก่อน "สมชัย"แนะชั่งน้ำหนัก-แก้ปัญหาทีละจุด

ข่าวการเมือง Thursday May 15, 2014 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) พร้อมด้วยแกนนำ กปปส.ได้เดินทางมาพบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อยืนยันว่า กปปส.ไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง เพียงแต่กปปส.ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขต้นตอที่จะทำให้เกิดการทุจริตได้เสียก่อน เพราะมองว่าตราบใดที่ต้นตอไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง การบริหารพรรคการเมือง และกระบวนการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข ก็จะยังทำให้ได้คนที่ไม่ดีเดินเข้าสู่การมีอำนาจทางการเมือง และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอยู่ต่อไป

แต่ถ้าเมื่อใดที่ต้นตอเหล่านี้ได้รับการแก้ไข ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้ว่าฐานรากของประชาธิปไตยได้รับการซ่อมแซมแล้ว ก็จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นกับแนวทางการเลือกตั้ง และการเดินเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม สะท้อนเจตนารมย์ของประชนได้อย่างแท้จริง

"เหล่านี้เป็นประเด็นที่ประชาชนภาคต่างๆ สะสมความรู้สึก ความคิดจากประสบการณ์ และออกมาแสดงร่วมกัน ถ้าไม่แก้ไข ไม่มีประโยชน์ให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือของคนไม่ดี คนมีอำนาจทางการเมือง ที่มาบอก ไม่ใช่เราไม่ต้องการการเลือกตั้ง เราอยากเห็นการเลือกตั้ง เราถึงต้องการให้ปฏิรูปประเทศก่อน แก้ไขสิ่งเหล่านี้ก่อน แล้วค่อยไปเลือกตั้ง" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวว่า มวลชน กปปส.ต้องการการเลือกตั้ง เพราะประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรม ตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1.พรรคการเมืองที่มีอยู่ ต้องเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบันพรรคการเมืองเป็นพรรคของนายทุน ใครที่มีเงินก็เป็นเจ้าของพรรคการเมืองได้ ซึ่งไม่ใช่พรรคที่มาจากประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดียวกันมารวมกัน

2.การบริหารพรรคการเมือง ที่จะต้องให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้มีโอกาสในการตัดสินใจในการบริหารพรรคได้ เพราะปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามีความเป็นเป็นเผด็จการมาตั้งแต่ในพรรค ซึ่งนายทุนเจ้าของพรรคเป็นผู้บงการ สั่งการเองในการตั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคเอง รวมถึงการตัดสินใจส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งขึ้นก็กับความพอใจของนายทุนพรรค ทำให้สมาชิกที่เป็นประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการบริหารพรรค

"เมื่อกระบวนการเลือกตั้งเป็นเช่นนี้ พรรคการเมืองเป็นแบบนี้ สภาก็เป็นซ่องโจรทำตามคำสั่งนายทุนพรรค แม้จะฝืนใจประชาชน เช่น การผลักดัน กม.นิรโทษกรรม กม.กู้เงิน 2 ล้านลบ. ผมอยากบอกประธาน กกต.ว่า ถ้าแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ ประชาชนพร้อมไปเลือกตั้ง และต้องการไปเลือกตั้ง" นายสุเทพ กล่าว

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ฝ่ายบริหารกิจการการเลือกตั้ง กล่าวว่า จุดยืนของ กกต.ทุกคนมีเจตนารมย์คือ จะต้องทำให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จและเป็นทางออกแก่สังคมได้ ขณะเดียวกันจะต้องไม่ทำให้เกิดการสูญเสียหรือเสียหายต่อบ้านเมือง ดังนั้นจุดยืนที่ชัดเจนของของกกต.ต่อการจัดการเลือกตั้งคือ ทำให้เสร็จจริงแต่ต้องไม่สูญเสีย ทำให้เสร็จจริงแต่ต้องเป็นทางออก และทำให้เสร็จจริงแต่ต้องคุ้มค่าไม่สูญเปล่า

ส่วนแนวคิดเรื่องการปฏิรูปการเลือกตั้งนั้น เชื่อว่าการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถกระทำได้ในเวลาที่จำกัด และไม่เชื่อว่าจะมีกรอบเวลาใดมาสามารถกำหนดได้ตายตัวว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปการเลือกตั้งจนทำให้ประเทศไทยไม่มีการซื้อเสียง มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม คนดีของสังคมเข้าสู่ระบบการเมืองได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้จึงไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว และไม่ใช่เรื่องที่ง่ายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

นายสมชัย เห็นว่า เมื่อยังไม่มีการเลือกตั้ง และยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถออกกฎหมายได้ การปฏิรูปในเนื้อหาใหญ่ที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายนั้นจะกระทำไม่ได้เลย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิรูปให้ทุกอย่างแล้วเสร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

"เวลาคิดเรื่องปฏิรูปการเลือกตั้ง ต้องมองเป็น 2 ส่วน ว่าก่อนเลือกตั้งทำอะไรได้บ้าง หลังเลือกตั้งทำอะไรได้บ้าง คงไม่สามารถคิดว่าจะทำให้ทุกอย่างเสร็จก่อนการเลือกตั้งแล้วค่อยเลือกตั้งได้ นี่คือประเด็นที่ผมเห็นต่างจากกปปส." นายสมชัย กล่าว

พร้อมกันนี้ ได้เสนอโจทย์ไปยังกปปส.ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ กปปส.จะยอมให้มีการเลือกตั้งในเวลาที่ไม่ช้าเกินไป อาจเป็น 3-4-5 เดือน แต่ภายในช่วงนั้นสังคมต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการยอมรับว่าการเลือกตั้งจะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ หรือมีกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือได้นักการเมืองที่เป็นปัญหาเข้ามา เพราะถ้าคิดโจทย์ไกลเกินไปเป็น 1 ปี หรือปีครึ่ง แน่นอนว่ากระแสต่อต้านจากคนที่ต้องการเห็นการเลือกตั้งโดยเร็วก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

"ยอมได้หรือไม่ว่า ถ้า 3 เดือนหลังจากการเลือกตั้งนั้น ฝ่ายการเมืองไม่มีอำนาจไปกำกับดูแลข้าราชการประจำ ยอมให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อดูแลจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ถ้าเป็นแบบนี้ แนวทางแบบนี้ กปปส.ยอมรับได้หรือไม่ ถ้ายอม เราจะไปคุยกับรัฐบาลในแนวทางนี้ ขอให้การเมืองอยู่เฉยๆ ทุกฝ่ายเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ทุกฝ่ายยอมรับกติกาการเลือกตั้งที่ กกต.กำหนด และช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ไม่มีกระบวนการขัดขวางการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง มวลชนทั้ง 2 ฝ่ายต้องหยุด" นายสมชัยกล่าว

พร้อมระบุว่า ตราบใดก็ตามที่ไม่มีการเลือกตั้ง ปัญหาตกอยู่ที่ประเทศชาติที่จะมีแต่ถอยหลัง ไม่สามารถแข่งขันได้ในภูมิภาค เพราะบรรยากาศการลงทุน และการทำงานของหน่วยงานราชการต่างๆ ต้องหยุดชะงัก

นายสุเทพ กล่าวว่า ต้องเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการเลือกตั้งก่อน เพราะหากเลือกตั้งไปแล้วได้คนชั่วกลับมาเหมือนเดิม ประชาชนคงจะเห็นด้วยได้ยาก ยืนยันว่า กปปส.ไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว สิ่งที่คิดที่ทำจึงไม่เหมือนกับพรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่ กปปส.เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ จึงไม่คิดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบ คิดถึงแต่ความยุติธรรมบริสุทธ์ในการเลือกตั้ง โดยจะยอมรับการเลือกตั้งทันที หากพรรคการเมืองไม่เป็นของนายทุนอีกต่อไป พรรคการเมืองควรเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง กกต.ต้องควบคุมการใช้เงินของพรรคการเมืองให้ได้ว่าต้องเป็นเงินที่บริสุทธิ์ที่ใช้ในการสนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งถ้าไม่ใช่ก็สามารถเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคได้ และก็ไม่ปล่อยให้มีโอกาสกลับมาตั้งพรรคการเมืองใหม่โดยยังเป็นนายทุนกลุ่มเดิมได้อีก ซึ่งถ้า กกต.ไม่สามารถทำได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเลือกตั้ง เพราะก็เท่ากับว่าจะได้คนไม่ดีเข้ามาสู่การเมืองอีก

นายสมชัย แสดงความคิดเห็นว่า หากแก้ไขปัญหาอะไรได้ก่อนก็ควรแก้ไปที่ละจุด เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ต่างฝ่ายต่างเดินหน้าไม่ยอมกันก็คงยากที่จะเห็นความสงบเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ เพราะฉะนั้นต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง 2 แนวทาง ระหว่างการกำหนดเวลา และเงื่อนไขเพื่อเดินหน้าการเลือกตั้ง กับอีกแนวทางคือการมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งคงต้องหาแนวทางที่เกิดประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่ยอมเสี่ยงก่อน แล้วค่อยไปแก้ไขในอนาคต

ขณะที่นายสุเทพ กลับเห็นว่าการยอมใช้เวลากับการปฏิรูปประเทศก่อน แล้วค่อยเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะถ้ายอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้คนที่ดีกลับเข้ามาบริหารประเทศ และเห็นว่าไม่คุ้มที่จะยอมให้มีการเลือกตั้งไปก่อน เพราะประชาชนที่ออกมาต่อสู้ร่วมกับ กปปส.ในขณะนี้ต่างทนมาเป็นสิบปีแล้วและคงยอมไม่ได้ที่จะให้ประเทศต้องเสียหายย่อยยับมากไปกว่านี้อีกแล้ว

พร้อมกล่าวด้วยว่า คงต้องจับตาวันพรุ่งนี้(16 พ.ค.) ซึ่งเป็นวันที่วุฒิสภาจะตัดสินใจต่อแนวทางเรื่องการหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้แก่ประเทศ เพราะหากตัดสินใจได้ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของประเทศที่มีทางออก ซึ่งยืนยันว่า กปปส.ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกระบวนการตัดสินใจของวุฒิสภา แต่หากวันพรุ่งนี้วุฒิสภาไม่สามารถตัดสินใจได้ ทางกปปส.ยืนยันว่าจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้เอง

"คงต้องไปลุ้นวันพรุ่งนี้ว่าวุฒิสภาจะตัดสินใจได้หรือไม่ที่จะหานายกฯ คนใหม่ให้ประเทศ ถ้าได้ ประชาชนก็โชคดี ผมไม่ได้แทรกแซง เรื่องนี้แล้วแต่เขา ให้กำลังใจเขา ถ้าส.ว.ชุดนี้กล้าตัดสินใจเลือกนายกฯ ให้ประเทศได้ ผมก็รับได้...แต่ถ้าพรุ่งนี้ประธานวุฒิสภาบอกทำไม่ได้ ก็เป็นกรรมที่พวกผมจะต้องทำเอง หรือถ้าประธานวุฒิฯ บอกว่าไม่ทำ รุ่งขึ้นผมจะนำระดมคนทั่วประเทศทวงคืนประชาธิปไตยมาเป็นของประเทศ จะทำให้ถึงที่สุด เพราะถ้าทำสำเร็จก็จะมีรัฐบาลของประชาชน แต่ถ้าไม่สำเร็จพวกผมก็เข้าคุกไป" นายสุเทพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ