คลังเผย Moody’s ยืนยันเครดิตไทยที่ Baa1/มีเสถียรภาพ การเมืองไม่กระทบ

ข่าวการเมือง Tuesday June 3, 2014 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการแทนรมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 57 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยที่ระดับ Baa1 พร้อมทั้งยืนยันแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ

การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากมุมมองของ Moody’s ว่า ความแข็งแกร่งพื้นฐานด้านความน่าเชื่อถือของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักถึงแม้ว่าการเผชิญหน้าทางการเมืองยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Moody’s ยังได้ยืนยันแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า รัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานจะไม่บั่นทอนความแข็งแกร่งด้านความน่าเชื่อถือของไทยอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 12 – 18 เดือนข้างหน้า

ขณะเดียวกัน Moody’s ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถืออันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นของไทยที่ระดับ Prime-2 และอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับการออกตราสารหนี้แบบ MTN หรือแบบ Shelf Registration ที่ (P)Baa1

สำหรับปัจจัยหลักในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ Baa1 ได้แก่ 1. ความสามารถในการบริหารการคลังของรัฐบาลอย่างไม่บกพร่อง 2. โครงสร้างสถาบันที่เข้มแข็งและไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร และ3. ความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศที่ยังคงดำรงอยู่

พร้อมกันนี้ Moody’s ยังได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ Baa1 ด้วย ในส่วนของเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของไทยก็ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเพดานความน่าเชื่อถือของหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ระดับ A2/P-1 ในขณะที่เพดานความน่าเชื่อถือของเงินฝากธนาคารสกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ Baa1/P-2 เพดานความเสี่ยงของประเทศสำหรับภาระผูกพันที่เป็นสกุลเงินบาทยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ A1 ซึ่งเพดานความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นการจำกัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ Moody’s จะให้แก่ข้อผูกพันสกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทของผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ เหตุผลในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s เห็นว่า ความแข็งแกร่งพื้นฐานด้านความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักและยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับวงจรความกดดันต่อเศรษฐกิจและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยปัจจัยหลักในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือ มีดังนี้

ปัจจัยที่ 1 ความสามารถในการบริหารการคลังของรัฐบาลอย่างไม่บกพร่อง รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาลอย่างรอบคอบตลอดช่วงเวลาที่ความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่หลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และแม้กระทั่งในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจและการลงทุนอ่อนแอ โดยโครงสร้างหนี้ที่เอื้ออำนวยของไทยได้ช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ ดังจะเห็นได้จากการพึ่งพาเครื่องมือทางการเงินที่เป็นสกุลเงินบาทและอายุเฉลี่ยของหนี้คงค้างที่นับว่ายาวโดยเปรียบเทียบที่ 7.9 ปี นอกจากนี้ การที่สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศต่อหนี้ของรัฐบาลทั้งหมดน้อยกว่าร้อยละ 2 ณ สิ้นปี 2556 ได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สอดคล้องของสกุลเงิน (Currency mismatch) เนื่องจากระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยมีเพียงพอ

Moody’s คาดว่า ระดับหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจะยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน การกำหนดนโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะถูกกำหนดทิศทางโดยหลักเกณฑ์ทางการคลังที่ชัดเจน ซึ่งทำให้สามารถตรวจสอบความท้าทายต่อวินัยทางการคลังที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายนอกระบบงบประมาณและการระดมทุน

ปัจจัยที่ 2 โครงสร้างสถาบันที่เข้มแข็งและไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร Moody’s เห็นว่า มี 3 หน่วยงานหลักที่แสดงถึงโครงสร้างสถาบันที่เข้มแข็งต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดย 2 หน่วยงานหลังอยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง ดังจะเห็นตัวอย่างจากการที่นโยบายเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ประสบความสำเร็จของ ธปท. ได้ช่วยรักษาต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ โดยเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากนัก

ปัจจัยที่ 3 ความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศที่ยังคงดำรงอยู่ Moody’s คาดการณ์ว่า ในปี 2557 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะขยับไปเกินดุลที่ประมาณร้อยละ 1 ของ GDP หลังจากที่มีการขาดดุลเล็กน้อยในปี 2555 และ 2556 นอกจากนี้ ถึงแม้สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินบาทของรัฐบาลได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2552 แต่ยังคงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ มาเลเซียที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ A3 และแนวโน้มเป็นบวก และอินโดนีเซียที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ Baa3 และแนวโน้มเป็นมีเสถียรภาพ รวมถึงสภาพคล่องในประเทศที่เพียงพอได้บรรเทาความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ที่เกิดจากโอกาสที่เงินทุนจะไหลออกทั้งจากความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินให้สู่สภาพปกติของตลาดการเงินในประเทศพัฒนาแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ตัวชี้วัดความเปราะบางของภาคต่างประเทศของไทยที่พิจารณาจากการสัดส่วนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเปรียบเทียบกับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัฐบาล ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ยังดีกว่าประเทศที่อยู่ในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกันโดยเปรียบเทียบ

นายรังสรรค์ กล่าวว่า แนวโน้มความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพเป็นผลจากการถ่วงดุลกันระหว่างความแข็งแกร่งพื้นฐานด้านความน่าเชื่อถือกับความท้าทายที่เกิดจากการแบ่งขั้วทางการเมือง หนี้รัฐบาลที่เพิ่มขึ้น และความล่าช้าของความคืบหน้าในการสร้างความแข็งแกร่งทางการคลัง นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า Moody’s จับตามองระดับของความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่มีรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งจำกัดโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงขึ้น

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการปรับเพิ่มหรือลดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ชี้แจงว่า ในช่วงนี้ยังไม่น่าจะมีการปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในเชิงบวกหรือปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะมีพัฒนาการในเชิงบวกเกี่ยวกับอันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ (1) การปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศทางการเมืองและแนวทางการปฏิรูปอย่างโปร่งใสที่สามารถใช้เป็นแนวทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนจากการปกครองโดยทหารเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มีเสถียรภาพ (2) มีความคืบหน้าในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินของภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการลดการขาดดุลงบประมาณและการลดการใช้จ่ายนอกงบประมาณ และการจำกัดภาระผูกพันทางการคลังที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยม และ (3) การกลับสู่แนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤตทางการเมือง

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือเป็นลบหรือปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ (1) ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างทหารและกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ (2) การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของต้นทุนในการระดมทุนของรัฐบาลที่เป็นผลจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศหรือการขาดวินัยทางการคลัง และ (3) การถดถอยลงอย่างรุนแรงของดุลการชำระเงินและการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ