(เพิ่มเติม) "วินธัย"ยันคสช.ไม่มีนโยบายกวาดล้างแรงงานต่างด้าว แค่จัดระเบียบ-ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง

ข่าวการเมือง Monday June 16, 2014 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยืนยันว่า คสช.ไม่มีนโยบายกวาดล้างแรงงานต่างด้าว แต่ต้องลงพื้นที่ทุกแห่งที่มีแรงงานผิดกฎหมายเพื่อรับทราบปัญหาและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมานานนับ 10 ปี โดยจะมีการบูรณาการทำงานของกระทรวงต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางและหลักการเดียวกันให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยยึดหลักมนุษยธรรมและเป็นไปตามหลักสากล ส่งผลดีแก่ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าว รวมถึงต้องมีการดูแลด้านสาธารณสุข ให้กับแรงงานต่างด้าวอย่างทั่วถึง และถูกหลักสุขอนามัย
"ต้องการจัดระเบียบใหม่ เนื่องจากเกิดปัญหาสะสมมานานนับ 10 ปี โดยต้องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง และทหารไม่เคยดำเนินการตามที่เป็นข่าว เพราะการดำเนินการต้องเป็นไปตามกฎหมาย และหากมีใครพบเห็นข้อมูลการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และกระทำผิดกฎหมายสามารถแจ้งเข้ามายัง คสช.ได้" พ.อ.วินธัย กล่าว

ทั้งนี้ คสช.มีภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ นายหน้าต่างๆ และการสะสางคดีความที่ยังคั่งค้างอยู่อย่างเป็นธรรมและตามหลักสากล

สำหรับการดำเนินการด้านอื่นๆ ในภาพรวมจะดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าว ดำเนินกิจการไปตามปกติ และดูแลให้อยู่ในความเรียบร้อย ส่วนการบริหารจัดการจะต้องดำเนินการที่เป็นเหตุเป็นผล สมกับความเป็นจริง และการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่สำคัญจะต้องส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง อย่างยั่งยืนต่อไป

"นโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว สำหรับการแก้ปัญหาเร่งด่วน ได้แก่ แรงงานประมง หรือทำงานทางเรือ ซึ่งควบคุมยากกว่าแรงงานทางบก รวมทั้ง แรงงานสิ่งทอและไร่อ้อย โดยแนวทางแก้ปัญหา ให้ดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แรงงานต่างด้าว ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ทำงานได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องหลบซ่อน รวมทั้งได้รับการดูแล รักษาพยาบาลอย่างถูกหลักสุขลักษณะ" พ.อ.วินธัย กล่าว

ด้านนายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรณีแรงงานกัมพูชาเดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมากนั้น จำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยตามกฎหมาย 3 สัญชาติ รวม 408,507 คน เป็นสัญชาติเมียนมาร์จำนวน 111,492 คน ลาว 55,342 คน กัมพูชา 241,673 คน ส่วนประเภทที่สอง เป็นแรงงานที่หลบหนีเข้าประเทศไทยแล้วได้ขึ้นทะเบียนพิสูจน์สถานะบุคคล รวม 1,824,508 คน ประกอบด้วย สัญชาติเมียนมาร์ 1,630,279 คน ลาว 40,546 คน กัมพูชา 153,683 คน ซึ่งจะออกเป็นหนังสือชั่วคราว โดยรวมทั้ง 2 ประเภท สัญชาติเมียนมาร์มีจำนวน 1,741,771 คน ลาว 95,888 คน กัมพูชา 395,356 คน ซึ่งตามกฎหมาย แรงงานต่างด้าวหากทำงานครบกำหนดการจ้างงาน 4 ปี จะต้องเดินทางกลับประเทศตนเอง ซึ่งในปี 2557 นี้ มีแรงงานต่างด้าว ที่จะต้องเดินทางกลับ จำนวน 379,852 คน ประกอบด้วย สัญชาติเมียนมาร์ 269,584 คน ลาว 43,739 คน กัมพูชา 67,529 คน

"เรื่องนี้น่าจะเป็นสาเหตุที่แรงงานกัมพูชาต้องเดินทางกลับประเทศ โดยบางคนได้พาญาติพี่น้อง รวมถึงครอบครัวกลับด้วย ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนที่จะต้องกลับไปทำการเกษตรในประเทศของตนเอง" นายธนิช กล่าว

ส่วนที่มีการปล่อยข่าวว่าทางกัมพูชาเรียกแรงงานกลับนั้น รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ได้ติดต่อประสานงานกับทางกัมพูชาตลอด โดยขณะนี้ยังไม่มีหนังสือแจ้งว่าจะเรียกตัวแรงงานกัมพูชากลับแต่อย่างใด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ