"ประยุทธ์"เผยเร่งสางทุกปัญหาที่หมักหมมมานานเพื่อให้ประเทศเติบโตยั่งยืน

ข่าวการเมือง Saturday June 21, 2014 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ขอขอบคุณการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย และนำพาความสุขคืนสู่ประชาชน โดยการแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ของชาติ อาทิ ปัญหาปากท้อง/ค่าครองชีพ ปัญหาการกวาดล้างจับกุมอาวุธสงคราม กลุ่มผู้มีอิทธิพล การพนัน อาชญากรรม การกระทำผิดกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดในรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้น เพื่อนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไปคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติซึ่งมีมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกัน คสช.ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชนทุกภาคส่วน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในการช่วยกันทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์

"วันนี้เรานำปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น 10 ปี แน่นอนจะแก้ไขไม่ได้ภายใน 10 วัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่เราพยายามทำอย่างเร็วที่สุด มีหลายคนบอกว่า เราแก้ปัญหาได้เร็วจนเกินไปหรือไม่ เป็นประชานิยมหรือไม่ ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นเรื่องที่เราฟังเสียงจากประชาชน แล้วเราแก้ไขให้ตรงจุด ทำคำตอบให้ตรงกับคำถามที่ท่านสงสัยเท่านั้น และขับเคลื่อนสิ่งที่ติดขัดเล็กน้อยให้ท่าน ผมไม่ต้องการให้เป็นความดีความชอบแก่ คสช. เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำในระหว่างนี้เท่านั้น และพร้อมที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ"ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงค่ำวานนี้(20 มิ.ย.)

หัวหน้า คสช. กล่าวว่า การดำเนินงานในทุกๆ เรื่องของรัฐจะต้องมีการสื่อสารกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ต้องสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน โดยรับฟังเสียงของประชาชน ต้องตอบคำถามทุกๆ คำถามที่เป็นข้อสงสัยเคลือบแคลงใจ และร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันกับประชาชน ประชาชนต้องรับรู้ถึงแนวทางในการดำเนินงาน การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวอาจจะเป็น 5-10 ปี ในวันข้างหน้า เพื่อให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจ และมีความคาดหวังที่ตรงกัน จะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ในทุกมิติ โครงการที่สำคัญจะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การทำประชาพิจารณ์ทุกโครงการ จะต้องไม่เร่งรีบหรือกีดกันการรับรู้ของประชาชน โดยดูแลประชาชนทุกคนในชาติทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ในส่วนของการดำเนินการอื่นๆ นั้น ได้แก่ ลดช่องว่างในเรื่องรายได้ของคนในสังคม สร้างค่านิยมในเรื่องการพึ่งพาตนเอง ความมีวินัย รู้จักหน้าที่ ด้วยการทำงานหนัก และการไม่หวังพึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว จะต้องช่วยกันสร้างสังคมที่เอื้ออาทร มีการแบ่งปัน การให้โอกาสกับผู้มีรายได้น้อย คนมีรายได้มากจำเป็นต้องดูแลคนมีรายได้น้อย คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

"ทั้งนี้โดยใช้หลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไขคือความรู้และคุณธรรมที่ผมได้กล่าวไปแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนของงานด้านความมั่นคงในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวนอกระบบ ผิดกฎหมาย มีการเสนอข่าวถึงการไล่จับกุมแรงงานต่างด้าว และมีการใช้อาวุธต่อแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้แรงงานเหล่านั้นเกิดความตื่นตระหนกและเดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างๆ ปัญหาในเรื่องนี้ เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานเป็นเวลาหลายปี และเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย รวมทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว โดยข้อเท็จจริงนั้นผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่สามารถจ้างแรงงานภายในประเทศได้เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงถึงวันละ 300 บาท/คน/วัน ประกอบกับแรงงานไทยไม่นิยมในการทำงานที่ใช้แรงงานมากนัก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงหันไปจ้างแรงงานต่างด้าว แรงงานนอกระบบ แรงงานผิดกฎหมายที่มีอัตราจ้างที่ถูกกว่า จนทำให้เกิดกระบวนการลักลอบนำพาแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาค้าแรงงานในประเทศจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ

"คสช.จำเป็นต้องเร่งดำเนินการจัดระเบียบเหล่านั้น เพื่อที่จะได้ดูแลสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้นกับแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือนายจ้างเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ตลอดจนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการใช้แรงงานเยี่ยงทาส หรือแม้กระทั่งการใช้แรงงานเด็ก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

โดย คสช.จะดำเนินการจัดระเบียบแรงงานเร่งด่วนปัจจุบันคือ ระยะที่ 1 มุ่งเน้นการกำจัดกลุ่มอิทธิพลที่ลักลอบนำพาแรงงานเถื่อนรีดไถเรียกเก็บค่าคุ้มครองเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งจากข้อมูลข่าวการนำพาแรงงานเข้าประเทศอาจจะถึงรายละ 2 หมื่นบาท ในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน และเข้าสู่ในกระบวนการลักลอบนำพาแรงงานเข้ามาพื้นที่ตอนใน เมื่อเข้ามาในพื้นที่ตอนในแล้วต้องจ่ายให้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในประเทศเพิ่มเติมอีก ประมาณหัวละ 8,000-10,000 บาท นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย ในการขึ้นทะเบียนอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำงานอยู่ถือเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานบนบกและแรงงานในทะเล ทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลในเรื่องสวัสดิการ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ แรงงานทาส แรงงานเด็ก ทำให้ส่งผลต่อปัญหาภาพลักษณ์ของไทยในเวทีต่างประเทศ ทำให้ไทยอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือในเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงานผิดกฎหมายที่ถูกกดขี่และหนีกลับประเทศก็จะมีกระบวนการลักลอบนำแรงงานเหล่านั้นเข้ามาทดแทนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล ยิ่งมีการกวดขันมากขึ้น โดยการบังคับใช้กฎหมาย โดยการใช้มาตรการอื่น ๆ สนับสนุนเข้าไปนั้นจะทำให้การลักลอบนำพาเข้ามามากขึ้น และก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้น ปัญหาการลักลอบนำแรงงานเข้ามาโดยไม่มีการขึ้นทะเบียนจำนวนมากนั้น ทำให้รัฐไม่สามารถจะบริหารจัดการดูแลควบคุมปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ อาชญากรรม โรคระบาด การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กที่กล่าวไปข้างต้น

"ปัญหาเหล่านี้สะสมมาเป็นเวลายาวนานในหลายสมัยหลายยุคหลายรัฐบาล ซึ่งมีความพยายามในการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นโดยชัดเจนยังคงเป็นปัญหาที่ต่างชาติ องค์กรระหว่างประเทศจับตามองอยู่ ล่าสุดจากการประเมินของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อาจจะพิจารณาสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย อาจถูกปรับลดจาก TIER2 WATCH LIST เป็น TIER3 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสิทธิในการค้าการลงทุนต่างๆ ของประเทศ ดังนั้น คสช.มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบในการกำจัดกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ และจัดระเบียบแรงงานโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจัดระเบียบการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ประกอบไปด้วย ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าของธุรกิจ ประกอบการต่าง ๆ ในอันที่จะกำหนดมาตรการที่ดีที่สุดเพื่อนำพาความน่าเชื่อถือ ในเรื่องการดูแลสิทธิมนุษยชนของไทย แรงงานไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับการบริหารจัดการในระยะที่ 1 ของ คสช.เป็นการผ่อนผันให้แรงงานทั้งในและนอกระบบได้ทำงานไปพลางก่อน เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลและนายทุนแสวงประโยชน์ต่างๆ จากผู้ใช้แรงงาน โดย คสช.ตระหนักดีว่าแรงงานเหล่านี้มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการต่างๆ จึงได้ผ่อนผันให้มีการใช้แรงงานเหล่านั้นสามารถทำงานต่อไปได้เป็นการชั่วคราว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการควบคุม กำกับดูแล พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เพื่อนำแรงงานเข้าสู่ในระบบต่อไป โดยจะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ให้เกิดข้อบกพร่องเหมือนกับที่ผ่านมาในอดีต ทำให้เปิดโอกาสกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลและนายทุน เอารัดเอาเปรียบ บังคับขู่เข็ญ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับแรงงานผิดกฎหมายเหล่านั้น

ในระยะที่ 2 คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว(กนร.) ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน จะดำเนินการจัดระเบียบควบคุมแรงงานทั้งระบบให้ถูกต้อง ทั้งแรงงานประเภทเช้าไปเย็นกลับตามแนวชายแดน แรงงานตามฤดูกาลในภาคการเกษตร เช่น ตัดอ้อย ขุดมัน เก็บเกี่ยว เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร และแรงงานประจำปี ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนแรงงานอยู่ในปัจจุบันนั้น จะต้องจัดเตรียมพื้นที่หรือโซนนิ่ง เพื่อให้แรงงงานได้มีพื้นที่พักอาศัยที่เป็นระเบียบสะอาดเรียบร้อยสวยงาม มีการกำกับดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ร่วมกับมิตรประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาที่มาของกลุ่มบุคคลลักลอบเข้ามาที่มีสัญชาติไม่ชัดเจน เช่น ชาวโรฮิงญา และจัดตั้งศูนย์รับ-ส่งคนงานที่ถูกกฎหมายในการนำเข้าและส่งกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นระเบียบมีความปลอดภัย รวมทั้งจะมีการพิจารณาทบทวนกำหนดค่าใช้จ่ายในการเข้ามาทำงานของแรงงานในสถานประกอบการต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานทั้งหมดที่เข้ามา สำหรับการกำหนดมาตรการทางกฎหมายจะมีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากเมื่อเรามีการนำแรงงานทั้งหมดเข้าระบบแล้ว ก็จะทำให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเคร่งครัด ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ อาชญากรรม ยาเสพติด โรคระบาด ฯลฯ และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างสมบูรณ์

กรณีเกิดเหตุโกลาหลเรื่องการไล่จับกุมแรงงานที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมาจนทำให้มีแรงงานเดินทางกลับประเทศจำนวนมากนั้น จากข้อมูลทางด้านการข่าว ระบุว่า เป็นการปฏิบัติการของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ได้ปล่อยข่าวให้เกิดความหวาดกลัว วัตถุประสงค์ในการให้ร้าย คสช.มุ่งหวังให้แรงงานจำนวนมากเหล่านั้นได้เดินทางกลับออกไปยังประเทศของตน เปิดหนทางให้มีการนำแรงงานเหล่านั้นกลับเข้ามาใหม่ มีการเรียกเก็บผลประโยชน์ จากแรงงานเหล่านั้นอีกครั้ง ซึ่ง คสช.จะเร่งดำเนินการปราบปรามขบวนการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

คสช.ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับนานาประเทศ เพื่อปกป้องสิทธิของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และไม่ให้กระทบบรรยากาศการค้าการลงทุนของนักลงทุนและนักธุรกิจชาวต่างชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สมาคมผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งไทยและต่างชาติเร่งชี้แจงทำความเข้าใจ พัฒนาความร่วมมือ ที่เอื้อประโยชน์กับทั้งไทยและมิตรประเทศอย่างเท่าเทียม เช่น การเจรจาข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่ยังคงค้างคาอยู่ ขั้นตอนการดำเนินการที่ผ่านมาซึ่งในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คสช.ได้ร่วมพบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการชาวสหรัฐฯ และยุโรปในประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนต่างๆ ในประเทศไทย และมีแนวโน้มทุกประเทศมีความเข้าใจกับสถานการณ์ในไทย และการปฏิบัติงานของ คสช. มากยิ่งขึ้น

เรื่องการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ คสช.ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างที่สุด ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีการบูรณาการ ทั้งในเรื่องของแผนงานโครงการงบประมาณและในส่วนของการปฏิบัติ เพื่อให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้น มิใช่การมุ่งเน้นแต่การใช้กำลังเพียงอย่างเดียวจะต้องใช้การปฏิบัติการทางทหารควบคู่ไปกับงานด้านการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อร่วมกับราชการอื่นให้เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้นและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ขอให้พี่น้องประชาชนได้มีความมั่นใจว่า ถึงแม้ คสช.จะมีภารกิจที่ต้องเร่งด่วนหลายประการด้วยกัน แต่ คสช. จะยังคงเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เพื่อนำพาความสงบสุขมาสู่พี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว

ด้านเศรษฐกิจ งานสำคัญของ คสช. ในการบริหารราชการแผ่นดินและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งหวังเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ การมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2558 โดยได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 2,575,000 ล้านบาท และรายรับไว้ที่ 2,325,000 ล้านบาท เป็นการวางแผนงบประมาณขาดดุล ที่ 250,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้จะยึดถือระเบียบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แนวนโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นผลประโยชน์ไปที่ประชาชนทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน โดยมีการบูรณาการงานทุกกระทรวงในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ โดยให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงในเรื่องที่เกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกัน เช่น การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างดำเนินการ ขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ไม่เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

"การวางแผนงบประมาณขาดดุลนั้น เนื่องจากมีความจำเป็นต้องให้มีความสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นความจำเป็นเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนได้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการขาดดุลเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ในปัจจุบันนั้น อาจจะส่งผลให้กลไกที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอื่น ๆ อาทิ การส่งออก การลงทุน การบริโภคอาจจะมีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้นการวางแผนงานในเรื่องของการเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของภาครัฐจะเป็นมาตรการที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับ การบริโภค การจ้างงาน นำเม็ดเงินสู่มือประชาชน คสช. จะติดตามผลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจจะมีการพิจารณางบประมาณภาครัฐเพิ่มเติมในระหว่างปี เพื่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยตัวเลขการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 85.1 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

แผนการลงทุนที่ คสช.เร่งรัดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน ที่จะเร่งดำเนินการเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2557 นี้ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย การสร้างรถไฟรางคู่ ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคม ได้จัดทำรายละเอียดเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมเข้ารับการพิจารณาจาก คสช. ในเร็ววันนี้ คสช. ได้ให้นโยบายในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพครบถ้วนสมบูรณ์ อาทิ การเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ จะต้องต่อเนื่องเชื่อมโยง สถานีรถไฟฟ้าโดยรอบปริมณฑล จะต้องคำนึงถึงรายละเอียดที่จำเป็น อาทิ มีพื้นที่จอดรถและต้องได้สัดส่วนสัมพันธ์กับจำนวนผู้โดยสาร

"ปัจจุบันทุกโครงการอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความโปร่งใส ความมีประสิทธิภาพ จากคณะ คสช. ที่ประกอบไปด้วย สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ปปช. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง คสช. อาจจะพิจารณานำกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นที่ได้รับการยอมรับจากสากล มาใช้ตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย โดยจะเป็นการเน้นตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำความต้องการ(TOR) การจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินการและการตรวจรับ รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบตลอดทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ซึ่งในอนาคตจะมีการปฏิรูปในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องระเบียบ กฎหมาย กระบวนการต่างๆ เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นอย่างสมบูรณ์ต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เรื่องการปรับปรุงกลไกของระบบยุติธรรม การบริหารราชการของส่วนราชการ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ เพื่อความมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้นั้น ในระยะเร่งด่วนนี้ คสช.จะแก้ไขเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อรัฐ และการแก้ไขนั้นไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ส่วนในระยะที่ 2 จะดำเนินการแก้ไขในเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจมีความสำคัญ และมีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง โดยทั้งนี้ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการ ผ่านสภาปฏิรูป ซึ่งจะถูกดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึง ขั้นตอนการมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และหลังจากนั้นอีกต่อไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม

เรื่องของการปรับปรุงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจนั้น กระทำเพื่อเพิ่มเติมประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นมาตรฐานสากล หลายๆ รัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาแต่ประการใด มีเพียงบางรัฐวิสาหกิจที่อาจประสบปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการและประสิทธิภาพ ตลอดจนความโปร่งใสที่จะต้องปรับปรุง เพื่อให้สามารถแข่งขันและได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกพวกทุกฝ่าย อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการสื่อสาร ที่รัฐจำเป็นต้องคงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างการบริหารงานของรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง ป้องกันการผูกขาด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ คสช. ต้องขอขอบคุณคณะผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีความเข้าใจและเปิดทางให้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว การดำเนินการในระยะสั้นนี้ จะเป็นการเฟ้นหาบุคคลที่มีความรู้ มีความสามารถ มีประสบการณ์ อยู่ในธุรกิจมานาน รวมทั้งบุคลากรที่มีความรู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน และความมั่นคง เข้ามาเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติม และระยะต่อไปจะเร่งให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ก่อให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณ สร้างความเสียหายต่อรัฐ อาทิ การปรับค่าตอบแทนกรรมการให้มีความเหมาะสม ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ไปเร่งพิจารณาถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่รูปธรรมต่อไป

การบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน คสช.ได้เร่งรัดและอนุมัติให้มีการจ่ายเงินให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่ตกค้างมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 จนถึงปัจจุบัน ทั้งในเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ การชดเชยพืชผลทางการเกษตร อาทิ ยางพารา ทั้งนี้การจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบ ข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเป็นสิทธิของประชาชนที่พึงมีพึงได้ ซึ่ง คสช. ให้มีการตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องบัญชีการจ่าย อาทิเช่น ในกรณีชาวสวนยางนั้น จะต้องเป็นเกษตรกรตัวจริง และไม่มีการบุกรุกใช้ผืนป่ามาทำไร่ โดยทางกระทรวงเกษตรได้ให้มีการขึ้นบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางไว้แล้ว คสช. ได้เร่งรัดให้มีความทันสมัยต่อไป รวมเงินงบประมาณที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกยางพาราประมาณ 100,000 กว่ารายเป็นงบประมาณกว่า 6,600 ล้านบาท จาก 63 จังหวัด และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติที่ตกค้างตั้งแต่ปี 2555 ประมาณ 580,000 ราย ใช้งบประมาณ 5,400 ล้านบาท จ่ายเงินเยียวยา ตลอดจนการให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงิน 85,685 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 22 มิ.ย.2557 การเตรียมการแก้ไขปัญหาลำไยที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ประมาณ 5 แสนตัน ได้เตรียมมาตรการรองรับ โดยใช้กลไกตลาดปกติ ผ่านระบบสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์กลางรับซื้อผลผลิต และโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนผลไม้ภาคตะวันออก เงาะ ลองกอง คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก จึงได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 4 มาตรการ ได้แก่ การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต ส่งเสริมการแปรรูป เน้นบริหารจัดการคุณภาพ และประชาสัมพันธ์โดยการส่งเสริมการบริโภค

"คสช.ขอทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรถึงแนวทางการช่วยเหลือในระยะต่อไป คสช.จะพิจารณาแนวทางที่มีความยั่งยืนมีประสิทธิภาพ โดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด อาทิ การช่วยเหลือในเรื่องลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมเทคโนโลยี ส่งเสริมตลาด ในส่วนของการบริหารจัดการนั้น จะให้เงินอุดหนุนเฉพาะเรื่อง จะมีการพิจารณาอีกครั้งให้มีความเหมาะสม ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ทั้งนี้เนื่องจากการอุดหนุนสินค้าเกษตรต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดนั้นอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายในระยะยาว ตัวอย่างเช่น การที่รัฐอุดหนุนสินค้าเกษตรชนิดใดชนิดหนึ่ง จะทำให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก ผลิตผลล้นตลาด สินค้าราคาตก ขณะที่นายทุนฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยในการเพาะปลูก เกิดการทุจริตนำสินค้าจากต่างชาติเข้ามาสวมสิทธิ์ คุณภาพสินค้าตกต่ำไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ทั้งราคาและคุณภาพ สร้างความเสียหาย รัฐต้องเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เกษตรกรประสบปัญหาในการจำหน่ายสินค้าที่ล้นตลาดอีกต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนการช่วยเหลือชาวนานั้นอยากจะให้ชาวนาทั้งประเทศได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมเข้าใจ และอาจจะกระทบเกษตรกรชาวนาทั้งประเทศเป็นจำนวนมากแนวทางวันนี้นั้น เราได้เตรียมการช่วยเหลือในระยะสั้นคือ 2557/58 ในการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกข้าวนาปี ซึ่งมี 2 มาตรการด้วยกัน มาตรการหลักเป็นการลดราคาปัจจัยการผลิต โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ค้าปุ๋ย ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าว กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ในการควบคุมราคาสินค้าจำเป็น ที่เป็นปัจจัยในการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมี สารเคมียาป้องกันกำจัดศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ โดยจะลดค่าบริการรถเกี่ยวข้าวลง ค่าเช่านาลดลง ซึ่งจะมียอดเฉลี่ย/ไร่ เพื่อให้ลดต้นทุนการผลิต/ไร่ ให้น้อยลงตามลำดับ สำหรับมาตรการสนับสนุนจะเป็นการ สนับสนุนแหล่งเงินทุนการให้สินเชื่อระยะสั้นกับชาวนา ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR โดย คสช. ช่วยเหลือชาวนาด้วยการชดเชยค่าดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ให้สินเชื่อกับสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกรในการนำข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายและนำมาแปรรูป การเพิ่มผลผลิต/ไร่ ใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสม ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว และ Zoning ในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน ส่งเสริมการตลาด เร่งหาตลาดใหม่ ช่วยเหลือการเก็บ Stock เชื่อมโยงตลาดในและต่างประเทศ ประกันยุ้งฉาง ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ประกันภัยข้าว ตั้งกองทุนข้าว ตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพทั้งระบบ

การดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ที่มีในปัจจุบัน ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้วยการสร้างแรงจูงใจต่างๆ อาทิ การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร ภาษีรายได้นิติบุคคล และมาตรการอำนวยความสะดวกต่างๆ โดย คสช. ได้เร่งรัดให้มีการจัดการประชุม ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและอนุกรรมการ เพื่อเร่งดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศและระบบเศรษฐกิจไทย

เมื่อวันพุธที่ผ่านมามีการประชุมพิจารณาอนุมัติโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบแล้วจากคณะอนุกรรมการ BOI ทั้งสิ้น 18 โครงการ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ระเบียบวิธีการ การส่งเสริมการลงทุนเดิมในปี 2556 มาพิจารณาเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ คสช. ในเรื่องของการมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงผลิตสินค้าที่มีมูลค่า การสร้างและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน โดยให้มีการลงทุนของนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ปัจจุบันมีสัดส่วนบริษัทไทย มากกว่า50 เปอร์เซ็นต์ โดยในครั้งนี้คณะกรรมการได้อนุมัติการลงทุนทั้งที่เป็นกิจการใหม่ ขยายกิจการเดิม รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 120,000 ล้านบาท การลงทุนดังกล่าวจะเป็นการสร้างการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบและผลิตผลในประเทศ เป็นการสร้างรายได้แก่ประชาชนต่อไป มีประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งนี้ คสช. ได้สั่งการให้สถาบันส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณาปรับปรุงระเบียบและเงื่อนไขในการอนุมัติโครงการตามนโยบายของ คสช. เพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ การลงทุนในปัจจุบันเพื่อเตรียมรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลกต่อไป

"ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่าการลงทุนในโครงการที่ BOI ให้การสนับสนุน เราไม่ได้นำเม็ดเงินของประเทศเราไปให้เขา เป็นการลงทุนจากต่างประเทศทุกโครงการส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินการของบริษัทไทยในประเทศนี้อยู่แล้ว เพราะสิ่งที่สร้างแรงจูงใจคือการลดภาษี การนำเข้าเครื่องจักร ลดภาษีนิติบุคคล แต่เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องของเขาทั้งสิ้น ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศไม่ได้ใช้เม็ดเงินของรัฐไปช่วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในด้านสังคมและสิ่งแวดลม คสช.มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นอันดับแรก ซึ่งมีความเดือดร้อนในเรื่องปากท้อง การเอารัดเอาเปรียบของผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ อาทิ การประกอบการรับจ้าง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ลูกจ้างรายวัน รายสัปดาห์ ปัจจุบันเราเห็นใจท่านถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล โดยอาศัยช่องว่างการกระทำผิดกฎหมายหรือการให้บริการนอกระบบ เรียกเก็บค่าคุ้มครองต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนกับผู้หาเช้ากินค่ำ คสช. วันนี้เราอยากจะให้มีการร่วมมือกันในการจัดระเบียบ ในช่วงแรกอาจจะมีปัญหาบ้างไม่สะดวกบ้าง และทั้งผู้ให้บริการและรับการบริการ แก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม และเกิดความถูกต้องในการประกอบอาชีพ "ไม่ต้องการให้ผู้มีอิทธิพลกลุ่มมาเฟีย ไม่ว่าจะสีไหน ไม่ต้องการให้เข้าไปข่มขู่ ฉกฉวยโอกาส เพราะในกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือมีรายได้น้อยเหล่านั้น บางส่วนก็เป็นข้าราชการ เป็นกำลังพลในกองทัพ และเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เขาถูกเอารัดเอาเปรียบมาเป็นระยะนานพอสมควรแล้ว เช่น ต่อการขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเสื้อตัวละเป็นแสนๆ ถึงสี่แสนบาท ผมว่ามากเกินไป คิดว่าจะต้องจัดสรรในเรื่องของการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และทำอย่างไรเขาเหน็ดเหนื่อย เขาก็ต้องได้รับผลตอบแทนของเขา เพื่อไปเลี้ยงดูครอบครัวอย่างเป็นธรรม อย่าไปเบียดเบียนจากเขาเลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

การดำเนินงานในด้านการสร้างความสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปนั้น ปัจจุบันยังอยู่ในระยะที่ 1 ซึ่ง คสช. เป็นแต่เพียงผู้อำนวยความสะดวก สร้างบรรยากาศให้เกิดการพูดคุย ถ้าบรรยากาศไม่ดีก็พูดคุยกันไม่ได้เกิดการทะเลาะกัน ตั้งแต่วันนี้ ฉะนั้นต้องสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดการพูดคุยกันก่อน แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน วันนี้ คสช. จะไม่สรุปหรือชี้นำใด ๆ ที่ผ่านมา คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปได้กำหนดกรอบและเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 4 มิ.ย.57 จะรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลจากนักวิชาการจากทุกภาคส่วนทุกพื้นที่ ค้นหาและทบทวนเอกสารและผลการวิจัย ซึ่งข้อมูลจากการเสวนาในอดีตของกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มากกว่า 200 ผลงาน ทั้งที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินงานต่อไป ในระยะที่ 2 ได้เปิดช่องทางการรับข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งโทรศัพท์ ไปรษณีย์ เว็บไซต์ ที่ผ่านมามีเรื่องและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้รับการนำเสนอที่สำคัญหลัก ๆ 11 ประเด็น ได้แก่ การทุจริตคอรัปชั่น การเข้าสู่อำนาจ(นิติบัญญัติ) และตุลาการ การใช้อำนาจการบริหาร(การรวมอำนาจ และการกระจายอำนาจ) การควบคุมอำนาจ(กระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ) ระบบพลังงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสื่อสารมวลชน การศึกษา การเรียนรู้ และภูมิปัญญา คุณธรรม-จริยธรรม ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การจัดสรรทรัพยากรที่ดิน น้ำ และป่าไม้ ทั้งหมดนั้นจะรวมเข้าไปสู่ขั้นตอนการปฏิรูปในขั้นตอนที่สอง ซึ่งจะมีการจัดตั้งสภาปฏิรูป จะมีการคัดสรรมา ไม่ใช่ คสช. ที่เป็นผู้คัดสรร ซึ่งเป็นตัวแทนแต่ละพวกแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้รับการคัดสรรมาเป็นจำนวนที่ได้เตรียมการไว้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ นอกจากนั้นได้มีการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกฝ่าย โดยมีระดับหัวหน้าพรรคและผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ได้เดินทางมาให้สัมภาษณ์ และเสนอข้อคิดเห็นด้วยตนเอง

"ขณะนี้ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ไปแล้ว 25 ท่าน และจะสัมภาษณ์ต่อไปอีก รวมทั้งสิ้นมากกว่า 50 ท่าน และจะจัดประชุมกลุ่มย่อย หรือ focus group หลังจากได้นำข้อมูลหลัก 11 ประเด็น ผนวกเข้ากับข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ จัดประชุมกลุ่มย่อยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีก 12 ครั้ง เพื่อถกแถลงและสร้างกรอบความเห็นร่วม เพื่อยืนยันประเด็นและสาระสำคัญที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีความต้องการที่จะปฏิรูปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จะไม่มีการสรุปข้อยุติในระยะนี้หรือแสดงความคิดเห็น โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง โดยทั้งหมดนั้นจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2557 และเตรียมข้อมูลไปสู่การปฏิรูปในระยะที่ 2 เมื่อมีการปฏิรูปในระยะที่ 2 จะมีการดำเนินการ โดยสภาปฏิรูป เพื่อจะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ระยะที่ 2 ก็พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง อาจจะไปทะเลาะกันในระยะที่ 2" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับการปฏิบัติในระยะที่ 2 อะไรที่เร่งด่วน เช่น การปฏิรูปทางการเมือง ปฏิรูปในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม หรืออะไรที่สำคัญที่ประชาชนต้องการ ที่เป็นปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดจะต้องแก้ไขให้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าให้ได้โดยเร็ว อะไรที่ไม่สำเร็จก็ต้องไปในระยะยาว อาจจะมีการลงสัตยาบันกันต่อไปว่ารัฐบาลต่อไปต้องไปดำเนินการต่อ อันนี้ก็เป็นไปตามคำเรียกร้องที่มีมาอยู่แล้วเดิมในอดีตที่ผ่านมาเรื่องการปฏิรูป

"ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องการเตรียมการ หรือการทำงานของ คสช. วันนี้มีหลายเรื่องที่ประชาชนหลายคนสงสัยมาก ประเด็นสำคัญวันนี้อยากบอกทุกคนให้สบายใจว่า ทุกอย่างมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ถึงแม้อาจจะมีข้อขัดแย้งอยู่บ้าง มีการต่อต้านอยู่บ้าง ผมก็เข้าใจ เห็นใจในทุกภาคส่วน ในเมื่อประชาธิปไตยของเราเดินหน้าไปไม่ได้ก็ขอเวลา เราต้องใช้ความมีสติ มีเหตุมีผลในการที่จะพาประเทศชาติบ้านเมืองให้ปลอดภัยต่อไปในอนาคต" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
หัวหน้า คสช. กล่าวว่า วันนี้มีการปล่อยข่าวว่ามีการเรียกร้องผลประโยชน์จาก คสช. หรือมีคนอ้างว่าสามารถจะจัดเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ตนเองขอยืนยันว่ายังไม่มีการดำเนินการใดทั้งสิ้น ฉะนั้นอย่าไปเชื่อ อย่าไปให้เขาหลอก อย่าไปเสียผลประโยชน์ให้เขาเป็นการล่วงหน้า
"ผมยืนยันยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เลยในเรื่องนี้ และยังไม่ใช่เวลา วันนี้เป็นเวลาแห่งการคืนความสุข เป็นเวลาของการเตรียมการ เป็นเวลาในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับชาติบ้านเมือง และประชาชนที่ลำบาก และเดือดร้อนมาเป็นระยะเวลายาวนาน วันนี้เราต้องการฟังเสียงประชาชนให้มาก และรวบรวมปัญหาทุกปัญหาไปสู่การปฏิรูป ในระยะที่ 2 และยั่งยืนในอนาคต" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

หัวหน้า คสช.กล่าวว่า ขอขอบคุณทั้งในเสียงติและเสียงชม ซึ่งมีค่ากับเราทุกคนขอให้มั่นใจว่า ถึงแม้เราเป็นทหาร แต่เราเป็นทหารที่มีความตั้งใจ มีหัวใจ ที่จะนำพาประเทศชาติไปด้วยความจริงใจ และไม่แสวงหาผลประโยชน์ ตนเองขอยืนยันอีกครั้ง ถ้ามีเรื่องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม วันนี้เราจะต้องขจัดผลประโยชน์เหล่านั้น หรือขบวนการทุจริตให้พ้นจากผืนแผ่นดินไทยไปให้ได้ไม่ว่าจะเวลาใดก็ตาม

"ระยะเวลาที่ผ่านมามีข่าวจากสื่อมากมาย ทั้งโดยสื่อ ประชาชน ทั้งพูดต่อกันมา ทั้งนี้บางอย่างอาจจะไม่มีข้อมูลที่แท้จริง และยังไม่ครบในทุกด้านจะมีแต่การขยายความขัดแย้งไปมากขึ้น และทำให้การปฏิรูปนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขอระยะเวลาให้กับเราสักระยะหนึ่ง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ