สนช.รายงานตัวช่วงเช้าวันสุดท้าย 5 คน ที่เหลืออีก 2 คนรายงานตัว 7 ส.ค.

ข่าวการเมือง Tuesday August 5, 2014 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศวันสุดท้ายในการรายงานตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า ตั้งแต่เวลา 08.30 น.ในวันนี้ เริ่มมีสมาชิกทยอยเดินทางเข้ารายงานที่อาคารรัฐสภา 2 แล้ว จำนวน 5 คน จากที่ยังเหลือไม่มารายงานตัวอีก 7 คน ได้แก่ พล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประเทศเพื่อนบ้าน ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก, นายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายณรงค์ชัย อัครเศรณี นักเศรษฐศาสตร์ อดีตรมว.พาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ปี 2539 อดีตสมาชิกวุฒิสภา ปี 2539 และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2549 และพล.อ. ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ, คุณพรทิพย์ จาละ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ส่วนนายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และนายสม จาตุศรีพิทักษ์ อดีต รมว.พาณิชย์ ได้แจ้งว่าจะมารายงานตัวในวันที่ 7 ส. ค. 57

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรมว.พาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษา คสช. กล่าวภายหลังรายงานตัว โดยยืนยันว่า จะไม่ลาออกจากที่ปรึกษา คสช.ด้านเศรษฐกิจ แต่จะทำงานควบคู่กันไป ทั้งนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าบรรยากาศของ สนช.ปีนี้แตกต่างจากสนช.ที่ตนเคยเป็นสมาชิกปี 2549 หรือไม่ ขณะเดียวกันมองว่าปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของคสช.ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเรื่องที่เป็นปัญหาก็ได้รับการแก้ไขแล้ว

อย่างไรก็ดี นายณรงค์ชัย ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธที่จะนั่งในตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ตามกระแสข่าวโผคณะรัฐมนตรี และไม่ขอแสดงความเห็นว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีจะเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน ควรรอให้มีการโปรดเกล้าฯ จึงจะวิพากษ์พิจารณ์ได้ ส่วนตำแหน่งประธานสนช. ก็ขอให้รอดูผลโหวตในวันศุกร์นี้

ด้านนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. สรุปภาพรวมการรายงานตัววันสุดท้ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ที่ยังไม่มารายงานตัวก็สมารถมารายงานตัวภายหลังได้ สำหรับงานรัฐพิธีในวันที่ 7 ส.ค.ได้เตรียมพร้อมแล้ว หลังจากนี้จะทำหนังสือแจ้งไปยังสมาชิกประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกประธานและรองประธานสนช.ในวันที่ 8 ส.ค.นี้

สำหรับสมาชิกที่ลาออก 2 คน ได้แจ้งไปยัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ววันนี้ ซึ่งจะมีการมีเสนอรายชื่อเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหัวหน้าคสช. ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวันใด เพราะต้องรอให้มีการเลือกประธานสนช.ก่อน และจากนั้นประธานสนช.จะเป็นผู้พิจารณากำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการเสนอข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ จึงจะสามารถบังคับใช้ได้ แต่ในระหว่างนี้ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2549 ไปก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ