ว่าที่รองประธานฯคาดประชุมสนช. 18 ส.ค.-รอกำหนดข้อบังคับใหม่ก่อนโหวตนายกฯ

ข่าวการเมือง Thursday August 14, 2014 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 18 ส.ค.หรือในสัปดาห์หน้า จากกำหนดเดิมที่คาดไว้ว่าจะเริ่มประชุม สนช.ได้ในวันพรุ่งนี้(15 ส.ค.) เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธาน สนช.ลงมา

"ที่เราวางปฏิทินไว้ล่วงหน้า คือเผื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อวาน ก็จะนัดประชุมสนช.ในวันที่ 15 ส.ค.เพื่อหารือเรื่องด่วนๆ 3 เรื่อง แต่ตอนนี้ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในวันที่ 18 ส.ค.ถ้ามีโปรดเกล้าฯ ลงมาวันนี้" ว่าที่รองประธานสนช.ระบุ

สำหรับเรื่องด่วนที่จะพิจารณากันเมื่อมีการประชุม สนช.ในสัปดาห์หน้ามี 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช., การตั้งวิป สนช.ชั่วคราว และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 58 หากในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เสนอเข้ามาให้พิจารณา

ส่วนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนั้น จากที่ได้หารือกับนายพรเพชร วิชิติชลชัย ว่าที่ประธานสนช. และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธานสนช. เห็นว่าจะต้องมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 รวมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติของฝ่ายนิติบัญญัติในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งควรต้องมีข้อบังคับ และมีการลงมติไปตามขั้นตอน

"ในเมื่อมีฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว เราก็ไม่อยากจะใช้ข้อยกเว้น เราอยากมีข้อบังคับในการประชุม สนช.ขึ้นมาก่อน" นายพีระศักดิ์ กล่าว

พร้อมเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 วันในการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สนช.จึงจะแล้วเสร็จ จากนั้นจึงค่อยเป็นขั้นตอนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากในระหว่างนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 58 เข้ามาให้ สนช.พิจารณาก่อน แต่หากคสช.เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 58 เข้ามาก็จะต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนก่อนที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

"หากคสช.พิจารณาแล้วว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน สนช.ก็จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 58 ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ" นายพีระศักดิ์ กล่าว

สำหรับกรณีความเห็นเรื่องการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.), คณะรัฐมนตรี(ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ควรจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ด้วยนั้น นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวแล้วมองว่าควรต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน และเปิดเผยต่อสาธารณะชนเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะถือว่าบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลสาธารณะที่มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศขณะนี้

"ผมว่าควรต้องเปิดเผยด้วย เพราะการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินก็เพื่อให้เห็นว่าก่อนเป็น ระหว่างเป็น และหลังเป็น มีทรัพย์สินหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างไร ถ้าไม่ได้เพิ่มผิดปกติก็ไม่เป็นไร" ว่าที่รองประธานสนช.กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ