ครม.ซักซ้อมแถลงนโยบาย 12 ก.ย.เน้นสร้างความชัดเจนต่อประชาชน-ปฏิรูปประเทศ

ข่าวการเมือง Tuesday September 9, 2014 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 12 ก.ย.57 ซึ่งขณะนี้การยกร่างเอกสารนโยบายรัฐบาลแล้วเสร็จลงแล้ว โดยจะครอบคลุมปัญหาของประเทศ และปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำคำขวัญที่ว่า“ทำก่อน ทำจริง ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ และยั่งยืนในปี 58" จะปรากฎในนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งเน้นย้ำถึวามชัดเจนในการดำเนินโครงการทุกโครงการที่จะต้องเปิดเผยให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงได้รับรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศบ้าง
"นโยบายต้องตอบคำถามค้างคาใจประชาชน เกิดความชัดเจน ประชาชนมีสิทธิรู้คำตอบ" นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้ ร่างนโยบายมีแนวคิด 5 แนวทาง ประกอบไปด้วย 1.การจัดนโยบายยึดหลักยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาคลอบคลุมทุกนโยบาย 2.ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีภูมิคุ้มกัน 3.ยึดตามแนวทางแผนพัฒนาฉบับที่ 11 4.ให้นำนโยบายของคสช. ที่กำหนดโรดแมป 3 ระยะ และหลักค่านิยม 12 ประการมาเป็นส่วนประกอบการ และ 5.ให้มีการนำปัญหาของประเทศ และความต้องการของประชาชนมากำหนดในนโยบาย

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า นโยบายที่จะแถลงจะคลอบคลุมปัญหาใน 11 ด้าน อาทิ เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาเซียนและการต่างประเทศ คุณธรรม เป็นต้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้แนวทางว่าแตกข้อย่อยของ 11 ด้าน จัดลำดับความสำคัญ แบ่งเป็น ระยะแรก คือ ระยะเร่งด่วน เฉพาะหน้าที่ต้องดำเนินงานภายในระยะเวลา 1 เดือน, ระยะกลาง คือ การดำเนินงานต่อจากระยะแรกภายในเวลา 1 ปี และ ระยะยาวที่ต้องใช้เวลา 5 ปีขึ้นไป เช่น โครงการรถไฟทางคู่

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวว่า ความแตกต่างของรัฐบาลชุดปัจจุบันกับในอดีตนั้น นอกเหนือจากงานบริหารราชการแผ่นดิน แล้วรัฐบาลนี้จะเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยในด้านการปฏิรูปรัฐบาลให้ความสำคัญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ถือเป็นสถาปนิกหลักของประเทศ และรัฐบาลจะเปิดเวทีให้กับสภาปฏิรูปมากยิ่งขึ้นในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.)เพื่อให้ออกแบบประเทศ พร้อมสั่งให้ข้าราชการทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ แต่จะไม่แทรกแซง

นอกจากนี้จะมีการเปิดเวทีสำหรับการปฏิรูปเพิ่มเติมเพื่อให้การเสนอความเห็นครอบคลุมประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

ส่วนด้านความปรอดอง จะเน้นการขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำและขจัดความรู้สึก 2 มาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม

"จากจำนวนที่สรรหา 7300 กว่าคน ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการ สปช. 250 คน ส่วนที่เหลือเข้ารอบสุดท้าย 550 คน ไม่ควรทิ้งให้เสียเปล่า"นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในทุกหัวข้อและทุกเรื่องของนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ หรือสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้แทรกเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูป และการเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเข้าไปในทุกเรื่อง

"ประชาธิปไตย การปฏิรูป คอร์รัปชั่น ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะแทรกไว้ในนโยบายทุกหัวข้อ"

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลเสร็จสิ้นแถลงนโยบายในวันที่ 12 ก.ย.แล้ว ในสัปดาห์หน้านายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมฝ่ายปฎิบัติทุกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานทำแผนปฎิบัติ (Action plan) เพื่อเสริมกับ Master plan ของรัฐบาล โดยกำหนดเป็นแผนงานใน 1 ปี เพื่อใช้เป็นคู่มือในการติดตามและประเมินผลการทำงานของแต่ละกระทรวง เพื่อนำส่งสนช.ในการแถลงผลงานรัฐบาบต่อไป

"20 กระทรวงต้องทำ (action plan) เพื่อเป็นคู่มือในการติดตามงาน ตรวจราชการ และประมวลผลงาน" นายวิษณุ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการชี้แจงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 2 ต.ค.นี้

สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างครม. และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)หลังจากนี้นั้น นายวิษณุ ระบุว่า คสช.ยังสามารถที่จะเสนอแนะ หรือแสดงความคิดเห็นมายังรัฐบาลได้ แต่ถือว่า คสช.ได้ลดบทบาทตัวเองลงไปแล้วหลังจากมีรัฐบาล แต่หากจะมีประกาศใดๆ คสช.ยังคงมีอำนาจภายใต้กฏอัยการศึกเท่านั้น หลังจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คสช.มาสู่ภายใต้ฝ่ายบริหารด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครม.วันนี้ ยังไม่มีมติแต่งตั้งในตำแหน่งเลขานุการ ที่ปรึกษาและผู้ช่วยรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวง แต่ได้มีการชี้แจงแนวทางเสนอแต่งตั้งจากเลขาคณะรัฐมนตรีโดยกำหนดเป็นแผนงานใน 1 ปี เพื่อใช้เป็นคู่มือในการติดตามและประเมินผลการทำงานของแต่ละกระทรวง เพื่อนำส่งสนช.ในการแถลงผลงานรัฐบาบต่อไป

ส่วนสาเหตุที่ ครม.มีการนัดหมายสวมใส่ผ้าไทย เข้าประชุมในวันนี้ เนื่องจากเห็นว่า ครม.มาจากทั้งทหารและข้าราชการ อาจจะมีชุดเครื่องแต่งกายที่ต่างกัน บางคนจะใส่สูท บางคนใส่ชุดทหาร จึงต้องการให้มีการสวมใส่ชุดที่เป็นทางการและมีความเหมือนกันเข้ามาร่วมประชุม แต่จะเป็นรูปแบบประจำในการเข้าประชุมหรือไม่ จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ