สนช.รับหลักการ 2 ร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการบิน กำหนดลักษณะความผิด

ข่าวการเมือง Thursday September 18, 2014 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการวาระที่1 ร่างพ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ด้วยมติเห็นด้วย 150 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 2 และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. .... ด้วยมติเห็นด้วย 153 งดออกเสียง 2

พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ร่าง จำนวน 15 คน แปรญัตติ 7 วัน กรอบเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

สำหรับสาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ มีสาระในการกำหนดขอบเขตการใช้บังคับกับการรับขนทางการระหว่างประเทศ และกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับเอกสารการรับขน ความรับผิดและข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ในการรับขนคนโดยสารและสัมภาระทางอากาศระหว่างประเทศ ซึ่งคลอบคลุมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในอากาศยาย หรือในระหว่างการดำเนินการด้วย

ส่วนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดที่ผู้โดยสารได้กระทำในอากาศยานในระหว่างการบินต่อผู้ควบคุมอากาศยาน เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานหรือผู้โดยสาร และต่อทรัพย์สินในอากาศยาน และเพื่อให้สอดคล้องกับความผิดที่กำหนดในอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดลักษณะของความผิดและบทลงโทษผู้กระทำความผิด เช่น ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น ทำให้เสียทรัพย์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทำการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในอากาศยาน ฯลฯ พร้อมทั้งให้อำนาจผู้ควบคุม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในอากาศยาน ควบคุม คุมตัวผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งหรือกระทำการใดๆที่เป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ สามารถกระทำการใดๆเพื่อป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยของอากาศยานได้

นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. กล่าวว่า ส่วนตัวมีข้อสังเกตุในมาตรา 12 เกี่ยวกับการทำอันตรายต่อบุคคลและเครื่องบินจากการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหากกฎหมายเขียนไว้เช่นนี้จะเท่ากับว่าผู้ประกอบการสายการบินจะไม่สามารถบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น วิสกี้ เบียร์ ไวน์ ให้กับผู้โดยสารได้ ซึ่งปกติผู้ให้บริการจะจัดเครื่องดื่มดังกล่าวเอาไว้ให้กับผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางการบินที่มีระยะทางไกล เช่นเดียวกับความผิดจากการกระทำที่เป็นการลามกอนาจาร เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ในรายละเอียดว่าการกระทำลักษณะใดและขนาดไหนถึงจะเข้าข่ายลามกอนาจาร เช่น การจับมือหรือถูกเนื้อต้องตัวเล็กน้อยจะถือเป็นความผิดหรือไม่

นอกจากนี้ ในมาตรา 8 เรื่องการห้ามสิ่งของต้องห้ามขึ้นเครื่องบินก็จะนำมาซึ่งปัญหาในทางปฏิบัติด้วย กล่าวคือ หากเกิดกรณีมีผู้แอบนำวัตถุระเบิดซึ่งเป็นวัตถุห้ามขึ้นเครื่องบิน โดยที่ผู้นั้นไม่ได้นำระเบิดมาสร้างสถานการณ์ จะมีผลให้ถูกปรับแค่ 2 หมื่นบาทตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ดังนั้นอยากให้มีแก้ไขในเนื้อหาของกฎหมายให้เกิดความรอบคอบด้วย

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การเขียนโทษประหารชีวิตในกรณีการฆ่าผู้อื่นในสนามบินและการกำหนดโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตและจำคุกตั้งแต่ 15 ปีในความผิดการทำให้การให้บริการของท่าอากาศยานหยุดชะงักไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการบรรเทาให้กับผู้กระทำผิด ประกอบกับในหลายประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว

ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ การป้องกันและสร้างความปลอดภัยให้กับท่าอากาศยานและการเดินทางโดยอากาศยานให้กับผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมจะนำข้อเสนอของ สนช.ในทุกประเด็นไปปรับแก้ไขในชั้น กมธ.วิสามัญฯต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ