นายกฯ เผยมีชื่อกมธ.ยกร่างรธน.ในใจแล้ว คาดแต่งตั้งแล้วเสร็จก่อน 23 ก.ย.

ข่าวการเมือง Tuesday September 8, 2015 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ยอมรับว่ามีประธานและกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในใจแล้ว โดยไม่มีชื่อนายจรัญ ภักดีธนากุล นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ นายคณิต ณ นคร และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ตามที่มีกระแสข่าว ซึ่งกรรมการ 21 คนนั้น จะมีการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จก่อนที่ตนเองจะเดินทางไปร่วมประชุมองค์การสหประชาชาติ ที่ สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 23 ก.ย.นี้

ส่วนการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดอง 200 คนนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ทั้งเห็นด้วยและคนที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยคัดเลือกมาจาก 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายความมั่นคง สังคมจิตวิทยา ต่างประเทศ เศรษฐกิจ และกฎหมาย โดยไม่ยึดที่มาจากสถาบันการศึกษาดังๆ แต่จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ วางแผนงบประมาณ ทำให้ประเทศเดินหน้า และเข้าใจแนวทางการปฏิรูปที่ตนเองตั้งใจไว้

ในวันนี้ที่ประชุมครม.ได้รับทราบการชี้แจงโรดแมพประเทศ ภายหลังจากที่สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังจากนี้จะใช้เวลา 20 เดือน หรือ แคมเปญ 6-4-6-4 โดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกดีใจและคิดว่างานจะเพิ่มและหนักขึ้น โดยหลังจากนี้จะต้องทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และส่วนตัวไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผลประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

พร้อมทั้งยืนยันอีกว่า ไม่มีใบสั่งจากตนเอง หรือ รองนายกรัฐมนตรี ให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะตนเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ และแม้จะต้องขยายเวลาการทำงานออกไป แต่ต้องการที่จะดำเนินการปฎิรูปสร้างความปรองให้ขับเคลื่อนไปตามแผนยุทธ์ศาสตร์

และยืนยันหากจะสืบทอดอำนาจก็เพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่าเท่านั้น ไม่มีเพื่อตัวเองและเห็นว่าถ้าประชาชนไม่ไว้วางใจตนเองก็คงไม่ยืนมาถึงจุดนี้ได้ ดังนั้น จึงจะมีการเร่งสร้างความเข้าใจ แผนบริหารงานให้ชัดเจน และเดินหน้า การปฎิรูป ปรองดอง ซึ่งนักการเมืองที่จะเข้ามา ก็ต้องดำเนินการขับเคลื่อนแบบนี้ต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังได้วิเคราะห์เหตุผลในเชิงส่วนตัวที่ สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมองว่ามีการนำเสนอผ่านสื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และนักการเมืองก็ออกมาวิพากษืวิจารณ์ชี้นำให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งอาจทำให้ สปช.เกิดความกังวล ตอนแรกตนเองมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญน่าจะผ่านได้ แต่เมื่อมีนักการเมืองออกมาชี้นำ จึงทำให้ สปช.คิดว่า ผ่านไปก็เท่านั้นก็ยังขัดแย้งอยู่ โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาตนเองก็ไม่เคยพูดชี้นำให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ซึ่งมองว่า นับจากนี้จะต้องเอาร่างรัฐธรรมนูญ มาแก้ไขใหม่ และต้องออกมาให้ได้ รวมถึงต้องสร้างการยอมรับจากประชาชนว่าต้องมีการสร้างความปรองดองและปฏิรูปต่อ

"รู้สึกรำคาญกับกลุ่มคนที่ให้ร้ายตนเอง ทั้งที่กลุ่มเหล่านี้ก็ยังก้าวไม่พ้นความขัดแย้ง ซึ่งยืนยันว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา ประเมินการทำงานแล้วเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ยังทำได้ดีกว่าที่ผ่านมา สร้างรายได้เข้ามามากกว่าแสนล้านบาท โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังทำไม่ได้ ซึ่งการบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายจะต้องติดตามงาน โดยจะขับเคลื่อนประเทศ เดินหน้าทุกมิติ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เร่งโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าต้องมีความชัดเจน โดยยุทธศาสตร์ของรัฐบาล จะขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองคู่กับการสร้างความยุติธรรม ซึ่งจะมีการเยียวยาผู้ที่รับผลกระทบทางการเมือง ขณะที่การนิรโทษกรรม จะต้องได้รับโทษก่อน จึงจะหาแนวทางช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป ต้องมีกลไลขจัดความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ตามหลักสากล ไม่สามารถยกโทษ หรือยกคดีให้ได้ พร้อมจะต้องปฏิรูปตามแผน 37ด้านของ สปช.และฝากประชาชนให้พิจารณา ว่าจะเชื่อคำพูดใคร ระหว่างตนเองกับคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ที่เอาสิ่งไร้ค่าออกมาพูด โดยยืนยันว่าตนเองจะทำหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า แม้ สปช.คว่ำร่าง ก็ไม่ทำให้เสียของหรือเสียงบประมาณแต่อย่างใด กลับมองว่าเป็นการคุ้มค่าเพราะได้ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่าคนคิดอย่างไรกับการปรองดอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ