"บวรศักดิ์" ปฏิเสธนั่งที่ปรึกษากรธ.ตามคำเชิญ"มีชัย" แต่พร้อมช่วยโดยไม่รับตำแหน่งเป็นทางการ

ข่าวการเมือง Thursday October 8, 2015 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้ทาบทามให้มาเป็นที่ปรึกษา กรธ.ว่า โดยส่วนตัวขอขอบคุณนายมีชัยที่มีเมตตาให้เกียรติเชิญร่วมเป็นที่ปรึกษาฯ ซึ่งความจริงนายมีชัยได้พูดคุยกับตนเองแล้ว และได้เรียนว่าเคยให้สัมภาษณ์สื่อไปว่าขอไม่เข้าร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งนายมีชัยบอกตนเองว่าไม่เป็นไร จะพูดคุยกับสื่อให้เข้าใจ

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ตนเองยินดีที่จะช่วยนายมีชัยทำงานทุกประการ แต่เมื่อพูดกับสื่อไว้แบบนี้ก็ต้องขออภัยนายมีชัยด้วย ถ้านายมีชัยอยากให้ช่วยก็ยินดีช่วยเป็นการส่วนตัวโดยไม่มีตำแหน่ง เพราะนายมีชัยเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ประชุมร่วมกันหลายครั้ง เพราะฉะนั้นจะขอรับความเมตตานี้ไว้และขออภัยด้วย แต่จะเอาใจช่วยและช่วยอยู่ข้างนอกโดยไม่มีตำแหน่งอะไร

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่รับเป็นที่ปรึกษาฯ นั้นไม่มีเหตุผลอื่น นอกเหนือจากที่ได้ประกาศกับสื่อไว้ และดีใจที่นายมีชัยเสียสละเข้ามาทำงาน เพราะการร่างรัฐธรรมนูญในยุคนี้ ไม่เหมือนกับปี 2540 และปี 2550 จะมีความยากลำบากอยู่หลายอย่าง

การที่นายมีชัยพูดว่า ยอมรับเป็นประธาน กรธ.ทั้งๆที่ไม่อยากจะรับตั้งแต่แรกก็เป็นความเสียสละ อย่างที่นายมีชัยพูดก็คือ ทำเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะนายมีชัยเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถมีประสบการณ์ยาวนาน ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ ประสบการณ์ของนายมีชัยมีมากกว่าตนเอง จึงเชื่อว่า รัฐธรรมนูญน่าจะออกมาด้วยดี และไม่ขอก้าวล่วงถึง กรธ.แต่เชื่อในตัวนายมีชัย และ กรธ.หลายคนที่รู้จักเป็นส่วนตัว

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ค่อยเป็นห่วงนายมีชัยกับการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะนายมีชัยรู้ข้อจำกัดนี้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องเวลา สถานการณ์ และการถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อนายมีชัยเสียสละเข้ามาทำถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และเห็นว่า ความสามารถอย่างนายมีชัยไม่จำเป็นต้องมีกรรมการคนอื่นก็ยังได้เลย แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะในสภาพสังคมที่ต้องระดมความคิดเห็นกัน แต่ในสถานะส่วนตัวหากเป็นประโยชน์อะไรได้กับการร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นประโยชน์กับงานบ้านเมืองในเรื่องอื่นได้โดยไม่มีตำแหน่ง ก็ไม่มีปัญหา

"ผมกับนายมีชัยพบกันและรับประทานอาหารกันอยู่เรื่อยๆ เย็นนี้(8 ต.ค.)ก็นัดรับประทานข้าวกัน และหากโดนกล่อมอีก ผมก็จะไปกราบตักนายมีชัย ขอบพระคุณ และยินดีที่จะช่วยอย่างไม่เป็นทางการ" นายบวรศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ไม่มีอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ใน กรธ.แล้วเป็นห่วงหรือไม่ว่าร่างเดิมจะไม่ได้รับการพิจารณานั้น นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า "จบไปแล้ว อดีตก็คืออะไร อย่าไปเที่ยวยึดติดกับอะไร ขอให้อยู่กับปัจจุบัน เพราะเมื่อร่างเดิมไม่ผ่านก็จบ เมื่อจบก็คือจบ ผมเห็นว่าสิ่งที่ตนทำมานั้นดีที่สุด ทำสุดความสามารถและมีเหตุผลอธิบายได้ทุกเรื่อง แต่ กรธ.ก็มีสิทธิที่จะนำไปพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจนายมีชัย..ผมไม่เสนอความเห็นอะไรทั้งสิ้น เพราะความเห็นของผมปรากฏอยู่ในร่างที่หนึ่ง เมื่อครั้งที่เสนอ สปช.ครั้งแรก และร่างสุดท้ายอยู่แล้ว เป็นตัวหนังสือชัดเจนไม่ต้องพูดด้วยวาจา"

ส่วนเนื้อหาอื่นที่ยังไม่ได้ใส่ไว้ในร่างสุดท้ายที่ถูกคว่ำนั้น นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตนเองได้บอกนายมีชัยแล้วว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในฝันของตนเอง เพราะต้องฟังเสียงกรรมาธิการอีก 35 คน ฟังเสียงคนนอก ฟัง ครม. คสช. ดังนั้นจึงต้องร่างภายใต้การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และเราก็ไปรับฟังความเห็นของประชาชนมาทั่วประเทศ ทั้งเสียงของ สปช.ด้วย ซึ่งมีหลายส่วน ถ้าเขียนได้เองก็จะไม่เขียนแบบนั้น แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นจบไปแล้ว จึงไม่ควรรื้อฟื้น และการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่แล้วไม่ได้ทำการสำรวจความเห็นโดยผ่านการสำนักงานสำรวจความเห็นคิดปกติ แต่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดทำไปถามความเห็นประชาชนทั่วประเทศ ซึ่ง กรธ.สามารถขอดูได้จากนางถวิลวดี บุรีกุล สมาชิก สปท.ซึ่งเป็นอดีต กมธ.ยกร่างฯ และความเห็นของประชาชนกว่า 85% อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ และชัดเจนที่ กมธ.ยกร่างฯเห็นอย่างหนึ่ง ประชาชนเห็นอย่างหนึ่ง และ กมธ.ยกร่างฯ เปลี่ยนไปตามประชาชน นั่นคือ เรื่องการไปเลือกตั้ง เพราะ กมธ.ยกร่างฯอยากเห็นสิทธิ แต่ประชาชนอยากให้เป็นหน้าที่ ซึ่งที่สุด กมธ.ยกร่างฯก็เปลี่ยนตามที่ประชาชนต้องการ แต่เรื่องเหล่านี้ผ่านไปแล้วก็ควรให้ผ่านไป

"ส่วนประเด็นเรื่องนายกฯคนนอก หรือ คปป.ประชาชนก็ให้ความเห็นไว้และมีการเผยแพร่แล้ว เพียงแต่สื่อไม่สนใจ สื่อสนใจแต่คำสัมภาษณ์ของนักการเมืองหน้าเดิมๆ คือคนที่อยู่ในปัญหาทั้งนั้น ซึ่งมีผลประโยชน์ทางการเมืองเกี่ยวข้อง สื่อไม่สนใจงานวิชาการ ไม่สนใจเสียงของคนที่ไม่มีเสียง ก็เป็นเรื่องธรรมดา" นายบวรศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ