"ยรรยง"มองคำสั่งนิรโทษฯล่วงหน้าแก้ทุจริตจำนำข้าวขัด ม.44,ซ้ำเติมสถานการณ์

ข่าวการเมือง Monday November 2, 2015 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ในรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า อย่าซ้ำเติมและมัดมือชกชาวนาและกลไกตลาดข้าวจนเขาไม่มีที่ยืนและล่มสลาย โดยเฉพาะการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะอาศัยอำนาจ ม.44 ออกอนิรโทษกรรมล่วงหน้ากระบวนการบริหารจัดการข้าวของรัฐบาลและการใช้อำนาจบริหารลงโทษโครงการรับจำนำข้าว

ทั้งนี้ นายยรรยง ระบุว่า เป็นคำสั่งที่ขัดต่อ ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ เพราะไม่เข้าข่าย 3 กรณีที่ให้อำนาจ คสช.ออกคำสั่งได้ คือ 1.เพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ 2. พื่อส่งเสริมสามัคคีและสมานฉันท์ 3.เพื่อป้องกัน ระงับยับยั้ง ปราบปรามการบ่อนทำลายต่างๆ เนื่องจากการบริหารจัดการข้าวเป็นการบริหารตามปรกติ ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดๆที่จะใช้อำนาจพิเศษ

นอกจากนั้น ยังเป็นการซ้ำเติม "จุดอ่อน" หรือ "จุดตาย" เรื่องข้าวอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นต่อกลไกการบริหารงานของรัฐบาล เพราะคำสั่งนี้นิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะทำให้ใครได้รับความเสียหายรุนแรงแค่ไหน ถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือไม่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงใด ก็จะอ้างว่าสุจริต และในที่สุดจะไม่ถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรมได้เลย

และ ที่สำคัญคือเป็นการซ้ำเติมและลิดรอนสิทธิชาวนา เจ้าของโรงสีและโกดัง รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะกรรมการที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้คำสั่งฉบับนี้ เช่น ถ้าประมูลข้าวเสื่อมให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนได้ราคาเพียงตันละ 3,000-5,000 บาท เจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะถูกสั่งให้ชดใช้ส่วนต่างกับราคาตลาดคือตันละ 11,800-12,000 บาท ในขณะที่เจ้าของโกดังไม่ได้ร่วมตรวจสอบคุณภาพข้าวและไม่ยอมรับผลดังกล่าวก็จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาล

ส่วนชาวนาที่ถูกสั่งห้ามหรือให้ชะลอการทำนา และถูกซ้ำเติมด้วยราคาข้าวตกต่ำก็ไมมีสิทธิเรียกร้องใดๆทั้งสิ้น

"ผมเฝ้าเกาะติดการทำงานของรัฐบาลเรื่องข้าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะผมไดัเกิดความรู้จากประสบการณ์จริงว่า "จุดอ่อน" หรือ"จุดตาย" เรื่องข้าวมีอยู่ 2 จุด คือ 1.ชาวนา และ 2. กลไกตลาดข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โรงสีและโกดังเก็บข้าว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยจัดการแปรรูปและเก็บรักษา หากรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูจุดอ่อนทั้งสองส่วนนี้โดยเร็วด้วยวิธีการที่ถูกต้องตรงจุดก็จะทำให้เกิดวิกฤติแก่ชาวนาและอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบอย่างแน่นอน"นายบรรยง กล่าว

แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะทำตรงกันข้าม คือห้ามหรือชะลอการทำนา ทำให้ชาวนามีผลผลิตลดลงมาก โรงสีและโกดังขาดวัตถุดิบต้องประกาศขายโรงสีหลายร้อยโรง แถมราคาข้าวยังตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้กลไกตลาดตัวจริงคือชาวนาแทบหมดลมหายใจ และ ล่าสุดรัฐบาลกำลังจะนำประเทศเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างรุนแรง คือ การชะลอการขายข้าวคุณภาพดีแต่จะขายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ

"ความจริงรัฐบาลนี้เองที่สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ และยังสร้างความเสียหายต่อรัฐเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาด"ข้อความ ระบุ

เนื่องจากรัฐบาลนี้ 1.ไม่เร่งรัดระบายข้าว โดยเฉพาะช่วงแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2557 แทบไม่ขายข้าวเลย ทั้งๆที่ชาวนาไม่มีข้าวขาย จึงไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบราคาข้าวของชาวนา และจนถึงขณะนี้ก็มีการขายข้าวจริงทั้งแบบเปิดประมูลและแบบจีทูจีน้อยมากเดือนละไม่กี่แสนตัน แถมยังไม่ระบายโดยวิธีอื่นๆด้วย เช่น เปิดประมูลในตลาดชื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) เป็นต้น

ถ้ารัฐบาลวางแผนขายเดือนละ 8 แสนถึง 1 ล้านตัน ก็คงไม่มีข้าวเหลือเป็นภาระ ความเสียหายจากการไม่เร่งระบายข้าวสรุปได้ดังนี้

1.1 ทำให้เสียค่าโกดัง ค่ารมยาและค่าประกันภัยเดือนละหลายพันล้านบาทโดยไม่จำเป็น

1.2 ทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพตามระยะเวลา ยิ่งเก็บนานยิ่งเสื่อมมาก

1.3 ทำให้ราคาข้าวในตลาดตกต่ำ เพราะถูกพ่อค้ากดราคาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% เหลือตันละ 6,500-7,800 บาท(สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 9,000-11,000 บาท) ราคาขายส่งข้าวสารขาว5% เหลือตันละ 10,500-11,000 บาท (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 14,000-15,000 บาท)และราคาส่งออก FOB ข้าวขาว 5% เหลือเพียง ตันละ 340-370 เหรียญสหรัฐ (สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 450-500 เหรียญสหรัฐ)

นอกจากจะทำให้ชาวนาลดลงมากทั้งที่ผลผลิตลดลงแล้ว ยังทำให้ GDP ข้าวลดลง และเศรษฐกิจหมุนเวียนน้อยลงมาก

2.นอกจากนี้รัฐบาลยังเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพข้าวแบบซ้ำซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ (ทราบว่าจนถึงขณะนี้ยังตรวจอยู่) เพราะข้าว 18 ล้านตันคือ 180 ล้านกระสอบ ต้องเก็บเป็นกองๆกองละประมาณ 20,000 กระสอบวางเรียงกันสูงไม่กิน 30 กระสอบ ในทางปฏิบัติจึงทำได้เพียงสุ่มตรวจเท่านั้น ไม่สามารถรื้อตรวจสอบละเอียดได้เพราะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก ที่สำคัญคือไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะมีเงื่อนไขในสัญญากำหนดตัวผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าของโกดังหรือเซอร์เวเยอร์จะต้องรับผิดชอบถ้าปรากฎว่าข้าวไม่ได้มาตรฐานหรือมีการปลอมปน และในทางปฏิบัติพ่อค้าที่จะเข้าร่วมประมูลข้าวก็จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของตัวเองไปตรวจดูคุณภาพข้าวก่อนเสนอราคาอยู่แล้ว

กรณีที่มีข่าวล่าสุดว่ารัฐบาลจะระบายเฉพาะข้าวเสื่อมคุณภาพ ส่วนข้าวคุณภาพดีจะชะลอการประมูลจนถึงมีนาคม 2559 นั้น ถ้าดูเผินๆเหมือนจะหวังดีและจะมีผลดีต่อชาวนาเพราะจะไม่ทำให้ข้าวราคาตกต่ำในช่วงนี้ แต่ความเป็นจริงน่าจะเกิดผลเสียมากกว่า เพราะการเปิดประมูลข้าวเสื่อมโดยมุ่งจะให้ไปใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้นแทนที่จะเปิดประมูลทั่วไปจะทำให้ได้ราคาต่ำมากแค่ตันละ 3,000-5,000บาท จะมีผลทางจิตวิทยาเป็นการชี้นำตลาดให้ราคาข้าวส่วนรวมตกต่ำลงไปอีก ส่วนการชะลอการขายข้าวคุณภาพดีออกไปหลังมีนาคม2559 นอกจากจะทำให้ข้าวดีเสื่อมสภาพไปอีกและเสียค่าเก็บรักษาจำนวนมากแล้วยังจะทำให้ราคาข้าวตกต่ำต่อเนื่องไปอีก เพราะตลาดรู้ว่ารัฐบาลยังอุ้มสต็อกอยู่จึงควร จะทยอยระบายไปเรื่อยๆมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ