สปท.เสนอความเห็นร่างรธน.แนะกรธ.กำหนดตัดสิทธินักการเมืองทุจริตชัดเจน

ข่าวการเมือง Tuesday November 10, 2015 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งสส.เพื่อเสนอให้คณะกรรมการรร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยระบุว่า ผู้เคยทุจริต และศาลตัดสินว่าเป็นผู้ที่คอร์รัปชั่น และผู้เคยถูกลงโทษ ไม่ควรมีสิทธิลงสมัคร เพราะบุคคลดังกล่าวถือว่ามีตำหนิไม่ว่าจะกระทำการในอดีตหรือปัจจุบัน

อีกทั้งบุคคลที่ถูกศาลตัดสิทธิการลงเลือกตั้ง รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยถูกสภาฯ ถอดถอน รวมทั้งข้าราชการที่ถูกปลดออก ไล่ออก หรือถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดแม้จะเป็นการรอลงโทษทางอาญาในคดีที่ไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์หรือเรื่องสุจริต เช่น การยักยอกทรัพย์ ลักทรัพย์ ฉ้อโกงบุคคลอื่น

นอกจากนี้ บุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการตรวจสอบประวัติทางการเมืองและการเสียภาษีย้อนหลัง เพื่อเป็นมาตรฐานการตรวจสอบ ร่อนตระแกรงคนดี ไม่ให้นักการเมืองคนโกง คนค้ายาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็นส.ส.

นอกจากนายวันชัย เสนอกระบวนการระหว่างลงสมัครรับเลือกตั้งให้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดข้อความให้ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดการตีความ คือการหาเสียงเลือกตั้งต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม กำหนดประเด็นหาเสียงที่ทำได้ และทำไม่ได้ โดยงดการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม เช่น โครงการที่นำเงินไปแจกประชาชน หัวละ 2,000 บาท

“กรณีของผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งต้องถูกลงโทษที่รุนแรง ด้วยโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปี ถึงตลอดชีวิตเพราะถือว่าเป็นผู้ที่ที่ทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่การตรวจสอบต้องทำให้รวดเร็วภายใต้ระยะเวลา 1 ปี ขณะที่ผู้ที่ซื้อสิทธิ ขายเสียง หรือที่เกี่ยวกับการทุจริตต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และผมเสนอด้วยว่าต้องห้ามลูก เมีย พ่อ แม่ของผู้ที่ทำทุจริตเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจต้องลงโทษด้วยการยุบพรรค ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งต้องเน้นการทำงานเชิงรุก" นายวันชัย กล่าว

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท. กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องแยกเนื้อหาระหว่างหลักการที่ปฏิบัติที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องเขียนเฉพาะหลักการเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องควรไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ไขในรายละเอียดได้ง่าย ขณะที่การเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ควรนำไปเขียนในบทเฉพาะกาล เช่น การบริหารราชการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามสูตรใหม่ ควรกำหนดให้มีวาระ 2 ปี เพื่อประเมินผลการเลือกตั้ง ว่าสุจริตเที่ยงธรรมหรือเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ สามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้จริงหรือไม่

และส่วนตัวเชื่อว่าหากใช้การเลือกตั้ง 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี จะลดการซื้อเสียงได้แน่นอน รวมถึงที่มาของ นายกฯ ในบทเฉพาะกาล ควรกำหนดให้มาจากผู้ที่เป็นสส.หรือไม่เป็นสส.ก็ได้ ขณะที่การกำหนดวันเลือกตั้งไม่ควรเขียนผูกมัดไว้ แต่ควรให้เป็นดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์บ้านเมือง ภายใต้โรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่สว.ในหลักการควรมาจากการเลือกตั้ง แต่เพื่อแก้ปัญหาในบทเฉพาะกาลควรให้สว.มาจากการแต่งตั้ง วันนี้ที่ประชุม สปท. ได้เปิดอภิปรายแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธานสปท. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยเรื่องที่สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่ ให้ความสนใจในการอภิปราย คือ เรื่องการเลือกตั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ