นายกฯ กังวลผลประเมิน EASA แนะทุกฝ่ายทำงานเชิงรุก เล็งเพิ่มประสิทธิภาพด้านปชส.

ข่าวการเมือง Wednesday December 9, 2015 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.)ว่า รู้สึกกังวลกับผลการประเมินของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป(EASA) ที่จะประกาศในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ซึ่งปัญหาทั้งหมดมีข้อบกพร่องหลายร้อยข้อ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด และบางเรื่องยอมรับว่าไม่สามารถดำเนินการได้แก้ไขได้ทัน ทั้งเรื่องของการกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบ บุคคลากรไม่เพียงพอ แต่กลับมีการเพิ่มจำนวนสายการบิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารที่ผ่านมาไม่แก้ปัญหา ทำให้วันนี้ต้องมาแก้ปัญหาแทนที่จะเดินหน้า

สำหรับการประชุม กพข. วันนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือในหลายประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมธุรกิจ ซึ่งจะประเมินผลโดยหน่วยงานต่างชาติ 3 หน่วยงาน โดยที่ผ่านมาอาจไม่ได้ทำหรือทำน้อย เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ต้องผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด ผลิตแรงงานฝีมือ โดยทั้งหมดจะบรรจุอยู่ในแผนพัฒนายุทธศาตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะใช้อำนาจที่มีอยู่แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยได้สั่งการให้ปรับคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ใหม่และให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการทำงานของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจโลก เพราะที่ผ่านมามีการพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป ซึ่งจากนี้จะต้องทำงานในเชิงรุก มีความรู้ในวิชาชีพ มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษพอสมควรเหมาะกับการใช้งานในแต่ละด้าน เช่น การท่องเที่ยว ธุรกิจ แรงงาน สถานศึกษา

นายกรัฐมนตรี มองว่า เมื่อการประชาสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงานไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้เกิดปัญหาประชาชนไม่เข้าใจ เช่น การคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ทั้งๆ ที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งเมื่อมีการคัดค้านก็สามารถปรับแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสมได้ พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าไม่มีใครคิดให้มีการตัดต่อพันธุกรรมพืชในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในส่วนของคณะกรรมการชุดของกระทรวงการคลังว่า ยังให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มพยานอีก 30-40 คน ดังนั้นต้องให้เวลาในการพิจารณาและให้ความเป็นธรรมด้วย

ส่วนกรณีที่นายภุชงค์ นุตราวงศ์ จะทำหนังสือขอความเป็นธรรมจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หลังจากที่มีมติเลิกจ้างจากตำแหน่งเลขาธิการกกต. เพราะไม่ผ่านผลการประเมินว่า นายภุชงค์ สามารถขอความเป็นธรรมได้ผ่านทางคณะกรรมตรวจสอบ ซึ่งต้องไปดูว่าสาเหตุมาจากเรื่องใด ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เป็นการรังแก และสาเหตุที่ถูกเลิกจ้างคงไม่ได้เกิดจากการที่นายภุชงค์ออกมาระบุว่า กกต.ใช้งบประมาณไม่โปร่งใส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ