นายกฯ เผยแนวทางการทำงานในปีหน้าเน้นจัดงบให้สอดคล้องการปฏิรูป-การพัฒนา

ข่าวการเมือง Tuesday December 29, 2015 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้พูดคุยกันถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลในกรอบเวลาที่เหลืออยู่ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นแผนงานในปี 2559-2560 โดยเน้นเรื่องการจัดทำงบประมาณ ทั้งในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำ งบลงทุน และงบกลางมาดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูป และตามแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการวางแผนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในปีหน้าจะต้องมีการวัดผลสัมฤทธิ์ในการทำงานให้เกิดผลตามกรอบงบประมาณและแผนงานที่มีอยู่ ถ้าหากโครงการใดไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องมีการทบทวน หรือหยุดการดำเนินการในโครงการนั้นๆ และหาโครงการใหม่ทำแทน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการในการจัดทำระบบภาษีในอนาคต โดยมีแนวคิดว่าจะต้องให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ราว 3 ล้านราย ซึ่งรัฐบาลจะสร้างแรงจูงใจให้เข้าสู่ระบบภาษีและทำให้เกิดการเสียภาษีให้ถูกต้อง เพราะจะช่วยในเรื่องการสร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในอนาคตจะต้องมีการพัฒนาบุคลากร ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา โดยขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการปรับหลักสูตรการศึกษา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ให้สามารถรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรมในแต่ละคลัสเตอร์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ และเน้นสร้างบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์และมีความสามารถ เพื่อต่อยอดไปพัฒนาประเทศต่อไป รวมถึงเน้นเรื่องของการวิจัยและพัฒนาที่รัฐบาลส่งเสริมห้างร้านต่างๆ ในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ ทั้งการส่งเสริมด้านบุคคลและสถานประกอบการที่มีศักยภาพ

ขณะที่การแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลได้มีการนำโครงการของรัฐบาลก่อนมาเทียบเคียง ซึ่งก็มีความแตกต่างกัน เพราะรัฐบาลนี้เน้นการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ดูแลไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และบริหารจัดการน้ำในการเกษตรให้เพียงพอ

สำหรับข้อกังวลว่าจะเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในปีหน้านั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลและประเมินยังมีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงเดือนกรกฎาคมปีหน้า ทั้งน้ำในการทำการเกษตร น้ำประปา และน้ำที่ใช้ผลักดันน้ำเค็ม ทั้งนี้คงจะไม่สามารถห้ามให้เกษตรกรเลิกทำนาได้ แต่จะใช้วิธีการรูปแบบใหม่ให้เกษตรกรไปดูต้นน้ำที่ต้องใช้ในการทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง

ส่วนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบได้สั่งการให้ไปพิจารณาตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน

อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำที่ทำการเกษตรอยู่ในขณะนี้มีปริมาณน้ำเพียงพอในการใช้ทำการเกษตร เพียงแต่จะต้องจัดหาระบบการพร่องน้ำ นำส่งแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้มีการปลุกพืชทดแทนและพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งรัฐบาลคงไม่สามารถออกเป็นมาตรการประหยัดน้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามได้ แต่ต้องอาศัยจิตสำนึกของประชาชนทุกคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ