"วิษณุ" ไม่เห็นด้วยใช้ม. 44 เพื่อการปรองดอง ชี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ-ต้องใช้เวลา

ข่าวการเมือง Wednesday January 6, 2016 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่เสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการปรองดองว่า ตามหลักเห็นว่าควรจะใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช้เป็นข้อกฎหมาย เนื่องจากการปรองดองเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่สามารถบังคับด้วยกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาหัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน อาทิ การตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องเขียนไว้ในกฎหมายก็ควรจะเป็นกฎหมายทั่วไป เพราะการเขียนในมาตรา 44 ไม่มีความยั่งยืน และมาตรา 44 จะใช้ในความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า ซึ่งวันหนึ่งก็จะสิ้นสุดไป แต่เรื่องของความปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาไม่สามารถแล้วเสร็จภายใน 1 ถึง 2 ปี หรือหากจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะเป็นการบังคับและทำให้รัฐธรรมนูญมีความยืดยาวและไม่ทันสมัย เพราะหากสถานการณ์เปลี่ยน อาจทำให้มาตราดังกล่าวล้าสมัยได้ ดังนั้นหากมีความจำเป็นที่จากต้องเขียนเป็นกฎหมายก็ควรเขียนเป็นกฎหมายทั่วไปจะง่ายกว่า เว้นแต่เรื่องของการอภัยโทษที่จะต้องบังคับใช้ในกฎหมาย

สำหรับกรณีการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ออกคำสั่งพักราชการ 59 คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า รายชื่อทั้งหมดในขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความผิด เพราะความผิดของข้าราชการ มีทั้งเรื่องการทุจริตและการประพฤติมิชอบ ซึ่งรายชื่อส่วนใหญ่จะเข้าข่ายลักษณะการประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะกรณีของข้าราชการท้องถิ่นกว่า 30 คนในจังหวัดมหาสารคามที่มีรายชื่อนั้น พบว่าถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดสอบคัดเลือกบุคคลบรรจุเข้ารับราชการ ซึ่งจำเป็นจะต้องตรวจสอบว่าเข้าข่ายเอื้อผลประโยชน์หรือไม่

"ถ้าไม่ผิด ก็ให้กลับเข้ามาสู่ตำแหน่งทำงานได้ คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ต่างจากที่ผ่านมา คือให้ตั้งคณะกรรมการสอบให้เสร็จ ถ้าผิดหรือไม่ผิดก็จะได้แก้ไขจึงเร่งรัดให้มีการสั่งพักงาน แล้วรีบตั้งคณะกรรมการสอบให้เสร็จโดยเร็ว มิฉะนั้นผู้บังคับบัญชาจะมีความผิดที่ล่าช้า ที่ผ่านมาก็มีได้กลับไปทำงาน เพราะสอบแล้วไม่พบว่ากระทำความผิด" นายวิษณุ กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ของข้าราชการ เพราะถือว่าเป็นการพัฒนาบุคคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากขึ้น แต่ทั้งนี้จำเป็นจะต้องจัดรูปแบบการอบรมที่เหมาะสม ไม่เปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือองค์กรภายนอกเข้าร่วมมากเกินไป จนอาจทำให้ถูกครหาว่าแสวงผลประโยชน์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ