"วิษณุ" นัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนวทางจัดทำประชามติพรุ่งนี้-กำชับรมต.ส่งความเห็นร่างรธน.

ข่าวการเมือง Tuesday February 9, 2016 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยวันพรุ่งนี้ (9 ก.พ.) นัดประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงบประมาณ, กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้แทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดทำประชามติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทางธุรการ เช่น กรณีการนับคะแนน จะให้มีการนับคะแนนจากผู้มาออกเสียงประชามติ หรือจะนับคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมทั้งพิจารณาเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในการจัดพิมพ์เอกสารการทำประชามติและบัตรลงคะแนน โดยการประชุมในวันพรุ่งนี้จะยังไม่สามารถกำหนดวันลงประชามติได้
เพราะต้องรอการจัดส่งเอกสารให้ครบร้อยละ 80 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ระบุว่า ต้องกำหนดให้ลงประชามติก่อน 30 วัน แต่จะต้องไม่เกิน 45 วัน
"คราวที่แล้วที่ได้เตรียมการไว้ คาดว่าจะใช้เวลาในการพิมพ์และแจกประมาณ 2 เดือนเศษ เมื่อบวกกับอีกประมาณเดือนครึ่งก็จะตก 4 เดือน คราวนี้ก็จะใช้เวลาใกล้เคียงกัน แต่จะมากำหนดวันตายตัวก็เป็นไปได้ยาก แต่ถึงอย่างไรวันประชามติก็ต้องเป็นวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ จะใช้วันธรรมดาไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหารือในวันพรุ่งนี้ด้วย" นายวิษณุ กล่าว

สำหรับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการลงประชามติกว่า 3,000 ล้านบาท ได้เตรียมการไว้ก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนความคืบหน้าข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงจะส่งข้อเสนอแนะมาให้ตนเองรวบรวมก่อนนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางไปปฎิบัติภารกิจต่างประเทศ และคงมีการมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงนามแทนก่อนเสนอความเห็นไปยัง กรธ.

"นายกฯ ได้กำชับว่าใครยังไม่ส่งก็ให้รีบส่งพรุ่งนี้ (10 ก.พ.) เป็นวันสุดท้าย ท่านเองก็อยากเห็นก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ แต่กว่าจะได้ลงนามในหนังสือ อาจจะให้รองฯประวิตร เป็นคนลงนาม" นายวิษณุ กล่าว

สำหรับความเห็นส่วนตัวต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า จะเสนอให้มีการรวมกฏหมายลูกที่สำคัญและจำเป็นต่อการเลือกตั้งใน 4 ฉบับ คือ 1.กฏหมายว่าด้วยเรื่อง ส.ส. 2.กฏหมายว่าด้วยเรื่อง ส.ว. 3.กฏหมายพรรคการเมือง และ 4.กฏหมายเลือกตั้งให้รวมเป็น 1-2 ฉบับ ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาให้สามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามโรดแม็พของรัฐบาล ส่วนกฏหมายลูกฉบับอื่นๆ สามารถดำเนินการหลังการเลือกตั้งได้ เพราะกระบวนการก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังสามารถทำหน้าที่ได้ ซึ่งใช้เวลาช่วงนั้นในการพิจารณากฏหมายลูกได้

นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะแก้ครั้งเดียวหรือไม่ เพราะมีข้อดีและข้อเสีย หากแก้ก่อนอาจทำให้มองว่าประชามติจะไม่ผ่าน แต่ข้อดีคือแก้ไขครั้งเดียวเพื่อไม่ต้องมาเสียเวลา แต่การแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ว่าจะแก้ก่อนหรือหลังก็ใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน อีกทั้งไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกตีตกไปหรือไม่ นายกรัฐมนตรีก็ได้ยืนยันว่า การเลือกตั้งก็จะต้องมีขึ้นในปี 2560

นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้รู้สึกเครียดหรือแสดงความกังวลต่อที่ประชุม ครม.หลังมีเว็ปไซต์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่นายกรัฐมนตรีพูดเพียงว่า การทำความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็น แต่วันนี้การทำความเข้าใจโดยฝ่ายอื่นนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ และไม่ใช่ร่างสุดท้าย ซึ่งการที่ใครจะช่วยชี้แจงต้องรอให้เป็นร่างสุดท้ายก่อน และนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า การแสดงความเห็นเป็นเรื่องที่ดี เป็นการแสดงถึงความมีส่วนร่วมของประชาชน และเชื่อว่า กรธ.จะรับฟังความเห็น

"ท่านก็ไม่ได้วิตกกังวล ท่านบอกว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ดี เป็นการแสดงถึงความมีส่วนร่วมของประชาชน และเชื่อว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะรับฟังความเห็น" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ ชี้แจงกรณีนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้มาชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า นายกรัฐมนตรีจะตอบคำถามได้เพียงกรอบกว้างๆตามนโยบาย จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงรายละเอียดให้เกิดความชัดเจน และเป็นการเพิ่มบทบาทของรองนายกรัฐมนตรีในการประเมินผลอธิบดีกรมต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตรับผิดชอบด้วย โดยการประชุม ครม.ช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมจะมีการฉายวิดีโอผลงานในแต่ละกระทรวงที่ได้ไปดำเนินการไปแล้ว หลังจากนั้นจะตามด้วยวาระเพื่อทราบ วาระการพิจารณา และได้เพิ่มวาระข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และปิดท้ายด้วยวาระการรายงานความคืบหน้างานของรองนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมรับทราบด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ