นายกฯ ยันใช้อำนาจม.44 เพื่อบูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูป มีเป้าหมายชัดเจน

ข่าวการเมือง Tuesday March 22, 2016 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.เพื่อปรับโครงสร้างการศึกษาว่า เป็นการใช้อำนาจเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างมีอำนาจดำเนินการเป็นของตนเอง ซึ่งบางเรื่องอาจไม่เป็นไปตามแนวทางให้เกิดการปฏิรูป ดังนั้นจึงต้องให้อำนาจอยู่ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านการศึกษา ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาเป็นประธาน เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงานและทางดำเนินการในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล รวมถึงการแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการโรงเรียนด้วย จากนั้นจะมีการประเมินผลว่า เรื่องนี้ได้ผลดีขึ้นหรือไม่

นอกจากนี้ เตรียมจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเพื่อปฏิรูปในเรื่องอื่นๆ ให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูป เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำให้สอดคล้องกัน ต้องมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น ให้ทุกกระทรวงร่วมกันทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

ส่วนกรณีประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 ให้แก้ไขมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อดำเนินโครงการเร่งด่วนในการจัดหาบริษัทเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการ โดยไม่ต้องรอให้ผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้วเสร็จนั้น นายกฯ กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นการยกเลิกการพิจารณา EIA และ EHIA แต่ต้องการให้มีการหารือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และอยากให้ประชาชนและเอ็นจีโอเข้าใจถึงประโยชน์ส่วนรวมในการพัฒนาประเทศด้วย เพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่มีผลต่อการลงทุนของประเทศและมีผลต่อความเชื่อมั่นด้วย

"ผมไม่ได้ยกเลิก ต้องหารือถ้าทำไปแล้วเกิดประโยชน์กับใครตรงไหน ทุกคนต้องยอมรับถ้าจะสร้างในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็ให้คำนึงว่าถ้าไม่มีเลยกับการที่มีบ้างบางส่วน หรือให้ความร่วมมือบ้าง จะเกิดประโยชน์กับตัวเองกับคนอื่นหรือไม่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำสั่งที่ออกมาไม่ได้ไปรื้อกติกาเก่าทั้งหมด เพียงแต่ลดขั้นตอนให้สั้นลงหรือไปทำในโครงการเล็กๆ เช่น กรณีโรงไฟฟ้า ถ้าคนในพื้นที่ไม่ยอมรับ และอยากให้มีการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เพราะค่าไฟฟ้าตรงพื้นที่นั้นจะสูงกว่าที่อื่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ