"มีชัย"เผย"วิษณุ"ไม่ติดใจหลัง กรธ.แจงเหตุผลรับข้อเสนอเก้ร่างรัฐธรรมนูญบางส่วน

ข่าวการเมือง Wednesday March 23, 2016 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ได้รายงานผลมติที่ประชุมฯ ซึ่งได้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายไปให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว โดยได้อธิบายเหตุผลให้รับทราบ และนายวิษณุก็ไม่ได้มีความเห็นใด ๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีน คงต้องรอให้กลับมาก่อน แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเช่นกัน

ประธาน กรธ.กล่าวว่า สาเหตุที่ปรับแก้รัฐธรรมนูญไม่ครบตามข้อเสนอทุกข้อ ในส่วนที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้พิจารณาตามเหตุผลในสิ่งที่เป็นไปได้ คือ ส.ว.เข้ามาสานต่องานปฏิรูปให้สำเร็จ ทั้งการปฏิรูประยะสั้นและระยะยาว ซึ่งรัฐบาลเองก็กังวลว่าจะสานต่ออย่างไร กรธ.จึงกำหนดให้มี ส.ว.สรรหา 250 คน จากคณะกรรมการที่เลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 200 คน และอีก 50 คน กรธ.ได้ยึดการเลือกตั้งทางอ้อมว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นระบบใหม่ ถือเป็นการทดสอบระบบด้วย

"คิดว่าจะไม่ขอเพิ่มแล้ว คิดว่าจะไม่ได้มากไปกว่านั้น เพราะเราอ่อนน้อมถ่อมตนเอาไว้ก่อน ส่วนจะได้มากกว่านี้หรือไม่เว้นแต่ คสช.จะเสนอให้เพิ่มจำนวน"นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า สำหรับ ส.ว.สรรหาที่มาโดยตำแหน่งในสัดส่วน 2.5% จาก 250 คน หรือประมาณ 6 คนนั้น ถือว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งอาจเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกับ ส.ว.สรรหาทั้ง 200 คน หรือ คสช.อาจตั้งขึ้นมาใหม่

ส่วนอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.เป็นไปตามปกติไม่ได้ต่างจากร่างเดิม แต่ที่เพิ่มคือกำหนดให้ดูแลกฎหมายปฏิรูปและไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด หากมีกฎหมายใดขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องให้สภาร่วมใช้เสียงข้างมากตัดสิน แม้ว่าเสียงของสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าอยู่แล้ว แต่ กรธ.อยากให้ทั้งสองสภาฯจับมือร่วมกันทำงานมากกว่า

ส่วนสาเหตุที่ตัดอำนาจการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ส.ว.ตามข้อเสนอนั้น เพราะเห็นว่าเมื่อรัฐบาลมาจากสภาผู้แทนราษฎร การเปิดอภิปรายฯ ก็ควรเป็นการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ ส.ว.ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นการแบ่งหน้าที่อย่างขัดเจน นอกจากนี้ ในส่วนของ ส.ว.สรรหาจะมีการทำบัญชีสำรองรายชื่อไว้ 50-100 คนเผื่อไว้ด้วย โดยสมาชิก สนช., สปท., ครม.และ คสช.ก็สามารถได้รับการสรรหามาเป็น ส.ว.ได้

ประธาน กรธ. กล่าวถึงระบบเลือกตั้งที่ไม่สามารถปรับให้เป็นรูปแบบการเลือกตั้ง 2 ใบได้ว่า เนื่องจากระบบเลือกตั้งใบเดียวของ กรธ.มาไกลแล้ว และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจไปแล้ว หากกลับไปใช้ 2 ใบก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่อีก

ขณะที่การเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คนก่อนเลือกตั้งนั้น นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.ได้รับฟังความกังวลในประเด็นที่หากรายชื่อที่เสนอมาล้มหายตายจากไป และเป็นระบบใหม่ที่อาจสร้างปัญหา จึงยกเว้นไม่ต้องเอารายชื่อได้ แต่ต้องภายใต้เงื่อนไขที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชี 3 ชื่อได้ และส.ส.จำนวนครึ่งหนึ่งขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อออกเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ลงมติให้ยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีดังกล่าว และให้สภาผู้แทนนำรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแทนโดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ

และขอยืนยันว่าวุฒิสภาไม่มีอำนาจร่วมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เพราะตามกระบวนการดังกล่าวหาก ส.ว.ไม่เข้าร่วมกระบวนการด้วย และส่งผลให้ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ สุดท้ายก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ประธาน กรธ. กล่าวว่า สำหรับการประชุมนอกสถานที่ของ กรธ.ในวันนี้ จะมีการตรวจสอบถ้อยคำในบทเฉพาะกาลที่พิจารณาไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค. แต่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในหลักการแล้ว

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้ส่งเนื้อหาทั้งฉบับให้ กรธ.แต่ละคนไปพิจารณาเพื่อตรวจดูถ้อยคำและเนื้อหาว่ามีประเด็นใดที่ต้องปรับปรุงหรือแก้ไขหรือไม่ โดยร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับนั้นพบว่ามี 262 มาตรา ยังไม่รวมในส่วนบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อพิจารณาทั้งฉบับรวมบทเฉพาะกาลแล้วจะมีประมาณ 280 มาตรา

ขั้นตอนของการพิจารณานอกจากจะทบทวนถ้อยคำความถูกต้องเชื่อมโยงแล้ว จะนำบางประเด็นที่ยังไม่ได้ได้ข้อยุติ ทั้งที่มานายกฯ ซึ่งบทบัญญัติได้กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวรรคแรก แต่ในวรรคสองกลับเขียนว่าพรรคการเมืองจะไม่เสนอชื่อก็ได้ ซึ่งการเว้นช่องดังกล่าวอาจทำให้เกิดความสับสนได้ จึงต้องมาพิจารณาและอาจกำหนดให้มีเกณฑ์ขั้นต่ำคืออย่างน้อย 1 ชื่อ เป็นต้น ขณะที่บทเฉพาะกาลที่พิจารณากำหนดหลักการตามข้อเสนอของเครือข่ายแม่น้ำ 4 สายที่ได้ข้อสรุปเบื้องต้นไปแล้วนั้นก็ต้องนำมาหารือด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ