(เพิ่มเติม) ประธาน กรธ.รับเริ่มมีบางพรรคเคลื่อนไหวต้านรธน. แนะทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังความเห็นก่อน

ข่าวการเมือง Tuesday April 5, 2016 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังการปาฐกถา "กรอบแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" เนื่องในวันสัญญาธรรมศักดิ์ โดยในระหว่างการปาฐกถามีกลุ่มนักศึกษาชูป้ายประท้วงว่า ไม่ได้เสียกำลังใจ เพราะการแสดงความเห็นสามารถทำได้ แต่ต้องรับฟังความเห็นต่างด้วย

"ต้อง อดทน อดกลั้น เพราะมีหน้าที่ชี้แจงก็ต้องไปชี้แจง ซึ่งบรรยากาศที่เจอ อาจจะเจอในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญอีกก็ได้ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นมีสัญญาณความเคลื่อนไหวจากบางพรรคพอสมควรในเรื่องเหล่านี้" นายมีชัย กล่าว

ส่วนประเด็นคำถามพ่วงประชามติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมพิจารณา ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าคำถามจะทำให้เกิดความสับสนในการตัดสินใจลงประชามตินั้น นายมีชัย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าคำถามนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร หรือขัดแย้งกันมากแค่ไหน ซึ่งยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบความชัดเจนว่าสนช.จะตั้งคำถามหรือไม่ และคำถามนั้นมีว่าอย่างไร หากทราบทั้ง 2 ประเด็นถึงจะวิเคราะห์ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการแสดงออกของนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ในงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยย้อนถามว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งนักศึกษากลุ่มดังกล่าวควรจะให้เกียรติงาน ไม่ควรนำทุกเรื่องไปเชื่อมโยงกับการเมือง ซึ่งขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึกว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง

"สังคมต้องแยกแยะให้ออก อย่าไปร่วมมือ พอรู้หรือไม่ว่ากลุ่มไหน กลุ่มคนดีหรือเปล่า กลุ่มคนที่สนับสนุนในการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ ก็มีเบื้องหลังทั้งสิ้น ทุกคนก็รู้อยู่ ทำไมต้องให้ผมบอก ต้องตอบให้ชัดว่าเป็นใคร" พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ส่วนจะให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่หลักสูตรอบรมของ คสช. หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะให้ฝ่ายความมั่นคงไปพิจารณา แต่ทั้งนี้เกรงว่าสังคมจะมองว่าทำร้ายนักศึกษาที่เป็นพลังบริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี เห็นว่าหากนักศึกษากลุ่มนี้ทำผิดหลายครั้งก็แสดงว่า ไม่ใช่พลังบริสุทธิ์อย่างที่กล่าวอ้างมา จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายให้เกิดความสงบเรียบร้อย เพราะหากเป็นพลังบริสุทธิ์ก็พร้อมจะให้อภัย ซึ่งประเทศชาติจะสงบสุขต้องกฎหมายเท่านั้น และต้องใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมเที่ยงธรรม เจ้าหน้าที่ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ควบคู่กับหลักนิติ ศาสตร์

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) เสนอคำถามพ่วงประชามติให้ ส.ว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า จะต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปพิจารณา เพราะตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ คงจะเข้าไปสั่งการอะไรไม่ได้ เนื่องจากต้องเคารพกฎหมาย พร้อมย้ำว่าขอให้เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกระบวนการที่มีอยู่

"เรื่องรัฐธรรมนูญ ผมว่าปล่อยไปตามกระบวนการจะดีกว่า อยู่ที่ประชามติ ทุกคนไปลงประชามติ ไม่เห็นด้วยก็ลงไม่เห็นด้วย เห็นด้วยก็ลงว่าเห็นด้วย ไม่ใช่ว่าจะต้องแบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝ่ายอีก ไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องอยู่ร่วมกัน เห็นต่าง ไหนบอกว่าเห็นต่างก็อยู่ร่วมกันได้ไง ก็คนอีกฝ่ายทำให้แตกแยกกันอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปแบ่งคน ไม่ต้องต่อต้าน ไม่ต้องตั้งแก๊งค์ขึ้นมาคัดค้านรัฐธรรมนูญว่าจะไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ลงก็อย่าลง ไม่ลงก็เป็นเหตุผลที่ว่าก็ต้องทำงานกันต่อไปเท่านั้นเอง จบ ผมว่าอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศอยากได้อะไรก็บอกเขาไป อยากได้อะไรก็ทำไป แต่อย่าขัดแย้ง อย่าใช้อาวุธยุทโธปกรณ์กันใหม่อีกรอบ ผมไม่ยอมตรงนั้น " นายกรัฐมนตรี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ