กรธ.นัดถกแนวทาง PR ร่างรธน.25 เม.ย. ไม่ฟันธงจะช่วยสนช.แจงคำถามพ่วงประชามติ

ข่าวการเมือง Monday April 18, 2016 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะหารือกันภายใน เพื่อวางทิศทางทางการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจในร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อพี่น้องประชาชน ส่วนกรณีคำถามพ่วงประชามตินั้น มองว่าหน้าที่หลักควรจะเป็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากกว่าในการอธิบายและทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะเป็นผู้ที่ตั้งคำถามขึ้นเอง อีกทั้งเชื่อว่า สนช.ได้วางแนวทางในการทำความเข้าใจกับประชาชนไว้แล้ว

"คงคุยกันวันที่ 25 เม.ย. ภายใน กรธ.ด้วยกันก่อน เพราะเราต้องมุ่งประชาสัมพันธ์งานของเราไปก่อน ส่วนคำถามพ่วงนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่ได้คิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นเราจะเน้นหนักไปที่โรดแมปการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะนี่คือหน้าที่หลักของเรา...เรื่องคำถามพ่วง สนช.ควรเป็นเจ้าภาพหลัก เพราะเขาเป็นคนตั้งคำถาม ดังนั้นต้องเป็นคนรับผิดชอบหลักที่จะอธิบายให้ประชาชน ซึ่งเขามีกลไกในการเดินสายพบประชาชนอยู่แล้ว ในเมื่อเขาเป็นเจ้าของคำถามก็ควรจะต้องทำหน้าที่นี้เป็นหลัก" นายชาติชาย กล่าวในรายการโทรทัศน์เช้านี้

โฆษก กรธ. กล่าวว่า เมื่อได้จุดยืนที่ชัดเจนในการประชุมวันที่ 25 เม.ย.แล้ว หลังจากนั้น กรธ.จะนำไปหารือร่วมกับที่ประชุม สนช.อีกครั้งว่าสุดท้ายแล้วจะมีการแบ่งงานกันอย่างไรในเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนต่อคำถามพ่วงประชามติ

"หลังจากวันที่ 25 เม.ย.ที่เราคุยกันเข้าใจแล้วว่าจุดยืนเราเป็นอย่างนี้ แล้วจะต้องไปคุยกับ สนช.อีกทีว่าจะแจกงานกันอย่างไร จะให้เขา(สนช.)รับผิดชอบไปเลย หรือเราก็รับผิดชอบงานของเราไป" โฆษก กรธ.กล่าว

พร้อมระบุว่า ส่วนที่มีหลายฝ่ายทักท้วงว่าคำถามพ่วงประชามติเป็นคำถามที่ค่อนข้างยาวและอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจได้ยาก จึงอยากให้มีการปรับแก้คำถามใหม่นั้น นายชาติชาย เห็นว่า เรื่องนี้คงไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจาก สนช.ได้ส่งเรื่องไปให้รัฐบาลแล้ว รัฐบาลเองก็ไม่สามารถแก้ไขได้ สุดท้ายแล้วคงต้องขึ้นอยู่ที่การอธิบายและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

"คำถามพ่วงคงปรับลำบากแล้ว เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ สนช.ที่แก้ไขและส่งคำถามมาให้รัฐบาลแล้ว รัฐบาลเองยังแก้ไขไม่ได้เลย คงต้องอยู่ที่การอธิบาย จะอธิบายอย่างไร" นายชาติชายกล่าว

สำหรับโรดแมปของกรธ.เองในส่วนของการทำความเข้าใจต่อประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญนั้น โฆษก กรธ.กล่าวว่า จะใช้อาสาสมัครในระดับหมู่บ้าน และระดับตำบล เช่น ผู้ที่เป็นกรรมการหมู่บ้าน ประธานกองทุนหมู่บ้าน อสม. กรรมการของกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ มาเป็นอาสาสมัครอธิบายแทน และมีโครงสร้างกรรมการระดับอนุกรรมการระดับจังหวัด ระดับอำเภอคอยสนับสนุนและเดินสาย ซึ่งในเดือนก.ค. จะเป็นเดือนหลักที่จะลงถึงระดับหมู่บ้านๆ ละ 2 ครั้ง นอกเหนือจากการลงไปพูดคุยกันตามหมู่บ้าน ส่วนการจัดเวทีใหญ่อาจมีแทรกมาบ้างในก.ค.แล้วแต่กรณี เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีเวทีใหญ่ให้กรธ. 2 ครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ