สวนดุสิตโพลเผยปชช.เกือบครึ่งมองการปรองดองในสมัยรบ."พล.อ.ประยุทธ์"สำเร็จได้ยาก

ข่าวการเมือง Saturday May 14, 2016 10:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,138 คน สำรวจระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2559 เกี่ยวกับการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังคงมีความแตกต่างทางด้านความคิดกันมาก ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจและติดตามการดำเนินงานของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่จะช่วยกันพัฒนาสังคมไทยให้น่าอยู่และสงบสุข

ผลสำรวจปรากฎว่า ประชาชนคาดว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นในหมู่คนไทยในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คงจะสำเร็จได้ยาก 45.52% เพราะ สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ดีขึ้น มีแต่ทะเลาะเบาะแว้ง ใส่ร้าย โจมตี ยังมีการเคลื่อนไหวให้เห็นอยู่ มุมมองความคิดเห็นแตกต่างกัน ไม่เปิดใจยอมรับ เปลี่ยนความคิดได้ยาก ฯลฯ

อันดับ 2 เห็นว่าคงจะสำเร็จ 33.21% เพราะรัฐบาลน่าจะทำได้สำเร็จ ประชาชนตื่นตัวให้ความร่วมมือมากขึ้น เป็นสิ่งที่คนไทยต่างคาดหวังอยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในสังคม เพื่อความเจริญก้าวหน้าและความสงบสุขของบ้านเมือง ฯลฯ

อันดับ 3 เห็นว่าคงไม่สำเร็จ 21.27% เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แก้ไขยาก คนบางกลุ่มไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล มองว่าถูกรัฐบาลปิดกั้น ควบคุม ขาดความเป็นอิสระ ฯลฯ

ทั้งนี้ สาเหตุการปรองดองของคนไทยจึงทำได้ยาก เพราะ

อันดับ 1 มีทิฐิ อคติ ไม่รับฟังความเห็นผู้อื่น 85.06%

อันดับ 2 คนเห็นแก่ตัว มุ่งหวังแต่อำนาจและผลประโยชน์ 77.15%

อันดับ 3 ได้รับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ไม่รู้ข้อเท็จจริง 71.65%

อันดับ 4 เลือกข้างเลือกฝ่าย เห็นแก่พวกพ้อง 70.21%

อันดับ 5 ไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม 62.65%

จากผลสำรวจที่ว่า แก้ไขความขัดแย้งแตกแยก ณ วันนี้ เพื่อให้เกิดความปรองดองควรทำอย่างไร?

อันดับ 1 รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ให้อภัย ลดทิฐิ เห็นแก่บ้านเมือง 79.35%

อันดับ 2 บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง กฎหมายต้องเป็นธรรม มีมาตรฐานเดียวกัน 68.37%

อันดับ 3 ต้องปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับคนไทย จัดกิจกรรมเสริมสร้างความปรองดอง 67.40%

อันดับ 4 พัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง วางรากฐานการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 51.93% อันดับ 5 นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ชัดเจน ตรงไปตรงมา 47.89%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ