(เพิ่มเติม) ประธานกรธ.-สนช. แจงสาระสำคัญร่างรธน.ให้ผู้บริหาร-ข้าราชการกทม.ช่วยสร้างความเข้าใจก่อนลงประชามติ 7 ส.ค.

ข่าวการเมือง Friday June 3, 2016 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในระหว่างการสัมมนาการสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามเพิ่มเติมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจแก่คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานคร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานคร จำนวน 250 คนว่า ถึงแม้หน้าที่ในการเผยแพร่จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างทั้ง 21 คน แต่คณะกรรมการคงไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน จำเป็นต้องอาศัยรัฐ หน่วยงานราชการในการทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการไปลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 59 รวมถึงเกิดความเข้าใจในรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและประเทศชาติส่วนรวมอย่างไร แม้ไม่สามารถอธิบายรายละเอียดของทั้ง 279 มาตราได้ทั้งหมด แต่จำเป็นต้องพูดถึงส่วนสำคัญของบางมาตราที่จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ทั้งนี้เจตนาของ กรธ. มีแนวคิดที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่น เพราะมุ่งให้รัฐธรรมนูญเป็นกรอบของการเดินหน้าประเทศ มุ่งสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศ คำนึงถึงปัญหาที่มีอยู่ สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ให้มีความเหมาะสมประเพณี วัฒนธรรม และอุปนิสัยของคนไทย โดยหลังจากการใช้รัฐธรรมนูญหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปในทุกระดับ อาทิ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพ ซึ่งได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ในการที่จะทำให้สิทธิเกิดขึ้นจริง อีกทั้งรัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่ไม่ใช่ความลับหรือเกี่ยวกับความมั่นคง ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน เดิมรัฐจะอุปถัมภ์ประชาชนเท่านั้นและไม่สามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้อย่างยั่งยืน แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะกำหนดให้รัฐสร้างกลไกที่จะทำให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทำให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานได้อย่างมีศักยภาพ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำการเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการทำงานเพื่อให้บริการประชาชน อำนาจที่ให้ไปคือให้ไปทำหน้าที่บริการประชาชน เป็นต้น

"วิธีการเขียนร่างรัฐธรรมนูญ และวิธีการปฏิบัติในร่างรัฐธรรมนูญจะแตกต่างไปจากเดิม เช่น ประเด็นสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ที่เคยเขียนว่าประชาชนมีสิทธิได้อะไร จะได้หรือไม่ได้ก็ขอขึ้นอยู่กับการเรียกร้อง แต่ของใหม่ได้เขียนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่ทำให้สิทธิของประชาชนเกิดเป็นจริงและรูปธรรม"

ขณะเดียวกัน ในหมวดปฏิรูปถือเป็นบทบัญญัติที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศได้มากสุด เพราะหากทำได้ตามนั้นนเชื่อว่า ประชาชนจะมีความสุข มีฐานะพอสมควร สังคมจะสรุป ประเทศชาติจะพัฒนา ความยุติธรรมจะเกิดขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิรูป มีจุดสำคัญที่ กรธ. เน้นย้ำ คือ การปฏิรูปการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชน ทั้งนี้ ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสิทธิเรียนฟรีของนักเรียนตามที่เคยได้รับ และปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ในชั้นของตำรวจ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบแต่งตั้งต้องไม่ให้นักเลงมีอิทธิพลต่อกระบวนการดังกล่าว ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญได้วางกรอบระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และหากทำไม่ได้กำหนดให้ระบบแต่งตั้งใช้ระบบอาวุโสเท่านั้น

นายมีชัย กล่าวว่า ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญหากมีความสงสัยต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญขอให้กลับมาพลิกเนื้อหาในบทบัญญัติเพื่ออ่าน และหากมีผู้ใดบอกว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ขอให้ถามกลับว่าไม่ดีนั้นคือมาตราใด และเมื่อฟังคำอธิบายขอให้กลับมาตัดสินใจด้วยตนเองว่าไม่ดีตามที่มีคนพูดหรือไม่

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องมีคำถามพ่วงประชามติว่า เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดให้สนช. รับฟังความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และการที่ต้องตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ให้ ส.ว.มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เพราะเนื้อหาตามมาตรา 270 ตามร่างที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้อำนาจ ส.ว.เป็นผู้ติดตามกำกับเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญหลายชุดไม่ผลักดันหรือออกกฏหมายลูกออกให้ครบถ้วน จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงตามหลักการสำคัญได้ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดของกฏหมาย แม้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จะถอดบทเรียนดังกล่าวมา แต่ที่สุดประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย กฏหมายลูกก็ออกไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

"ตามร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากจะกำหนดให้ ส.ว.มีหน้าที่เร่งรัดในการปฏิรูปแล้ว ยังกำหนดให้ ครม.ต้องรายงานความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ดังนั้นเมื่อครม.มีความรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งมี ส.ว.เป็นส่วนหนึ่งด้วย จึงทำให้บุคคลที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลมีความสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ เราจึงเสนอคำถามพ่วงดังกล่าวให้ประชาชนเลือกเพื่อเป็นกลไกพิเศษชั่วคราวให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องถูกควบคุมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ" นายสุรชัย กล่าว

พร้อมยืนยันว่า คำถามพ่วงไม่ขัดกับเนื้อหาของ กรธ. เพราะหากคำถามพ่วงได้รับความเห็นชอบ กรธ.มีหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขในบทเฉพาะกาลเท่านั้น เมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปีก็เป็นอันสิ้นสุด จึงไม่มีอะไรไปกระทบต่อบทหลักแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สนช.ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่คิดเป็นสิ่งที่ถูก แต่คิดเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเท่านั้น ผลออกมาอย่างไรไม่มีใครในประเทศนี้ปฏิเสธเสียงของประชาชนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ