(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยหลังหารือร่วม ครม.-คสช.คาดจัดเลือกตั้งได้ราว พ.ย.-ธ.ค.60

ข่าวการเมือง Tuesday August 9, 2016 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและคสช.ถึงกระบวนการเลือกตั้งว่า หากนับตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงอย่างเป็นทางการ ก็คาดว่าน่าจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ในช่วงราวเดือน พ.ย.-ธ.ค.60 เนื่องจากก่อนถึงการเลือกตั้งยังมีการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นตามกรอบของรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงการจัดทำกฏหมายลูกอีก 4 ฉบับเพื่อใช้สำหรับการเลือกตั้ง

"ถ้านับวันไล่จากวันที่ 10 (ส.ค.)นี้เลยนะเป็นวันที่หนึ่ง จะไปเลือกตั้งพฤศจิกายน 2560 แล้วมีขั้นตอนจัดการเลือกตั้งอีก ไม่ใช่พอเสร็จปั๊ปพรุ่งนี้เลือกตั้ง มันได้หรือไม่ เธอทำกับข้าวแล้วไม่ใส่เครื่องปรุงเลยได้อย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินการจากนี้จะมีการแถลงรายละเอียดผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหลังจากทราบผลอย่างเป็นทางการจาก กกต.ที่คาดว่าจะมีประกาศในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.) เพื่อทำความเข้าใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เข้าใจตรงกันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าตามโรดแมพ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

ส่วนประเด็นของคำถามพ่วงที่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ปฎิเสธที่จะแสดงความเห็นว่าจะเป็นการเปิดทางให้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยขออย่านำไปเปิดประเด็นใหม่ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งหวังให้มีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก แต่เขียนไว้ในกรณีที่เกิดปัญหาและความขัดแย้งจนไม่สามารถดำเนินการอย่างอื่นได้เท่านั้น และยังเชื่ออีกว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่นักการเมืองจะตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้

"อย่ากลัวผีที่มองไม่เห็น ผมพยายามทำยันต์กันผีอยู่"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยังระบุอีกว่า ในการประชุมร่วมครม.และคสช.วันนี้ ได้มีการายงานภาพรวมผลการออกเสียงประชามติ พร้อมทั้งได้ขอบคุณ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่สามารถร่างกฎหมายออกมาให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ และยืนยันว่าในกระบวนร่างรัฐธรรมนูญรัฐบาลไม่ได้เข้าไปสั่งการใดๆ เป็นเพียงเอกสารเสนอตามขั้นตอนเท่านั้น และถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนให้ความเห็นชอบเกินร้อยละ 50 และย้ำว่าขั้นตอนการออกเสียงประชามติเป็นไปตามหลักการสากล จึงขออย่าให้เชื่อข้อมูลที่บิดเบือนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดทำโดยทหาร

พร้อมกันนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจงกรณีสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งข้อสังเกตุถึงความชอบธรรมในการจัดทำประชามติ โดยมองว่าเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะคิดและตนเองไม่อยากทะเลาะกับใครอยู่แล้ว และมองว่าการที่ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญน่าจะมาจากประชาชนอยากให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย

หลังประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้เห็นภาพทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรนำความเห็นต่างของบางคนมาขยายความ ซึ่งระหว่างการหารือในวันนี้ยังได้มอบแนวทางและหลักการให้แม่น้ำทั้ง 5 สาย ร่วมกันทำงานในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ยังค้างอยู่และเดินหน้าไปสู่การปฏิรูป ซึ่งอยากเห็นความร่วมมือจากข้าราชการด้วย

สำหรับประเด็นข้อเรียกร้องปลดล็อคการทำกิจกรรมพรรคการเมืองนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังต้องรอการพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม แม้พรรคการเมืองต้องเตรียมตัวที่จะต้องไปสู่การเลือกตั้ง แต่ขณะนี้เป็นช่วงของการกำหนดระเบียบต่างๆ และต้องรู้ว่าขณะนี้ใครที่เป็นคนดูแลกติกา และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ต้องมีการพูดคุยหารือกัน แต่ยืนยันว่า ยังไม่คิดเรื่องให้พรรคการเมืองจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ หรือ เซตซีโร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ