นักการเมือง-เอ็นจีโอแนะเปิดกว้างการมีส่วนร่วมร่างกม.ลูก เตือน"เซ็ทซีโร่"อาจสร้างความขัดแย้ง

ข่าวการเมือง Thursday August 11, 2016 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อดีตนักการเมือง แนะ คสช.เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในขั้นตอนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะหากกำจัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอีกอาจเกิดความขัดแย้งตามมา อีกทั้งควรต้องระมัดระวังการใช้มาตรา 44 ไม่ให้เกินความจำเป็น และขอให้แสดงท่าทีชัดเจนที่จะไม่สืบทอดอำนาจ ห่วงปม"เซ็ท ซีโร่"อาจมีแรงต้านจากนักการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้งได้

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ แกนนำพรรคเพื่อไทย เสนอให้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ใช้โอกาสหลังจากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติแล้ว สร้างความปรองดองภายในชาติด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในขั้นตอนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลต้องระมัดระวังเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เกินความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

"เมื่อรัฐธรรมนูญที่เป็นกรอบใหญ่ได้ดั่งใจแล้ว ขั้นตอนการจัดทำกฎหมายลูกก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกระบวนการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของคนที่เห็นต่างมากกว่าปี 50 ทั้งห้ามการชุมนุม การจัดเวทีแสดงความคิดเห็นที่จำกัด ครั้งนี้ คสช.และ กรธ.ควรเปิดกว้าง เพราะหากกำจัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอีก อาจเกิดความขัดแย้งตามมา" นายสุรนันทน์ กล่าว

นายสุรนันทน์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและ คสช.มีการบริหารจัดการที่ดีจนสามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่เกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลให้ประชาชนลงคะแนนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพราะมีความไว้วางใจรัฐบาลและ คสช. อีกส่วนหนึ่งอาจไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง แต่อยากให้รัฐบาลดำเนินการตามโรดแมพที่นำไปสู่การเลือกตั้งภายในปี 60 ตามที่ได้ประกาศไว้

"หลังจากนี้ประชาชนคงต้องจับตาดู ไม่ให้ คสช.ครอบงำเพื่อสืบทอดอำนาจ" นายสุรนันทน์ กล่าว

นายสุรนันทน์ กล่าวว่า กรณีที่ประชาชนเห็นชอบกับคำถามพ่วงนั้นอาจสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่ไว้วางใจนักการเมือง จึงต้องให้ ส.ว.จากการสรรหาเข้ามามีบทบาททางการเมืองในรัฐสภามากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณให้ทุกพรรคการเมืองต้องมีการปฏิรูปเพื่อเรียกศรัทธาของประชาชนกลับคืนมา โดยการเสนอแนวคิดใหม่ในการบริหารประเทศสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

"นักการเมืองต้องเรียกเครดิตกลับคืนมา ต้องปฏิรูปตัวเองให้ประชาชนไว้วางใจ ล้างภาพลักษณ์เสียหายอย่างที่ถูกกล่าวหา พรรคการเมืองต้องเสนอชุดความคิดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนเหมือนที่รัฐบาลออกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" นายสุรนันทน์ กล่าว

นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ผลจากการลงประชามติครั้งนี้อาจวัดเรื่องฐานเสียงของพรรคการเมืองได้โดยตรง แต่คิดว่าทุกพรรคการเมืองคงต้องประเมินผลที่ออกมาด้วยเช่นกัน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ คะแนนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรปล่อยผ่าน แต่ต้องรีบชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งหรือไม่ได้รับความสนใจดูแลจากรัฐบาล

"เรื่องนี้รัฐบาลไม่ควรชะล่าใจ ควรรีบส่งคนเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดกระแสต่อต้านจนกลายเป็นชนวนให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ลุกฮือตามบ้าง" นายสุรนันทน์ กล่าว

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ควรประกาศท่าทีชัดเจนเรื่องการไม่หวนคืนสู่อำนาจภายหลังจากพ้นวาระไปแล้ว เพราะอาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนกรณีพฤษภาทมิฬ

"กรณีที่แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ออกมาประกาศตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอาจเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้งเหมือนปี 35 ที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็ได้" นายศรีสุวรรณ กล่าว

ส่วนการจัดทำกฎหมายลูกนั้นน่าจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่รัฐบาลประกาศโรดแมพไว้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่มีความสลับซับซ้อน สามารถนำกฎหมายเดิมมาขัดเกลาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ และควรจะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญใหม่ ขณะที่การแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นคำถามพ่วงก็อย่าไปแปลงเจตนารมย์เกินไปกว่าขอบเขตที่เขียนไว้

"ไม่น่าจะมีอะไรที่สลับซับซ้อน แต่ กรธ.ต้องเปิดกว้าง ถ้าปิด ๆ บัง ๆ ก็จะถูกต่อต้าน ควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น" นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายกสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยังเห็นว่า กรณีที่มีความเห็นเสนอแนวคิดัให้พรรคการเมืองจดทะเบียนจัดตั้งใหม่นั้นอาจมีแรงต้านจากนักการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เพราะนักการเมืองที่มีอยู่เดิมยังไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน

"คะแนนที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญสะท้อนถึงกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังมีความเข้มแข็งอยู่ การกำหนดกฎกติกาที่จะปิดทางนักการเมืองเก่าเพื่อเปิดทางให้กลุ่มการเมืองใหม่อาจมีแรงต้าน ทางที่ดีต้องเปิดกว้างเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ คสช.อย่าชะล่าใจ เพราะหัวคะแนนในต่างจังหวัดยังมีผลอยู่" นายศรีสุวรรณ กล่าว

ขณะที่ผลการทำประชามติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนั้นอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยอาจมีความไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องศาสนาที่มีความอ่อนไหว และเกิดความหวาดระแวงต่อภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ