ประธาน กรธ.ยันการปรับแก้รัฐธรรมนูญต้องยึดเนื้อหาคำถามพ่วง เหตุผ่านประชามติมาแล้ว

ข่าวการเมือง Friday August 19, 2016 18:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อคำถามพ่วงท้ายการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนนำรายละเอียดไปปรับปรุงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงท้าย ซึ่งนายมีชัย กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า กรธ.จำเป็นต้องยึดเนื้อหาในคำถามพ่วงท้ายเป็นหลัก คงไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ เพราะได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว เขียนมาอย่างไรก็ต้องใช้อย่างนั้น

พร้อมอธิบายว่า มาตรา 272 ของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของการยกเว้นนายกฯ นอกบัญชี ซึ่งทำได้เพียงวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเท่านั้น ขณะที่คำถามพ่วงท้ายเป็นเรื่องของการร่วมลงมติเลือกนายกฯ ของ สว.ที่กำหนดไว้ 5 ปี ซึ่งเป็นเรื่องของการร่วมโหวดตอนเลือกนายกฯ ไม่ใช่ข้อยกเว้น

"เราต้องเอาความเห็นของ สนช.มาดูก่อน ว่าสิ่งที่เขาเห็นหรือสิ่งที่เขาอยากนั้นมันตรงตามที่ไปขอประชามติหรือไม่ เราก็จะได้เขียนตรงตามที่ไปขอประชามติไว้ แล้วถ้า สนช.เห็นว่าที่เราเขียนไปนั้นไม่ถูก ก็สามารถร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะบอกเราว่าที่ควรจะเขียนนั้นเป็นอย่างไร" ประธาน กรธ.กล่าวก่อนเข้าประชุม

จากนั้นตัวแทน สนช. ประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 นายสมชาย แสวงการ, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช., นายธานี อ่อนละเอียด และ พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ ได้ใช้เวลาชี้แจงราว 2 ชั่วโมง

นายเจตน์ ศิรธนานนท์ โฆษกคณะกมธ.ฯ กล่าวภายหลังการเข้าชี้แจงว่า ข้อเสนอของ กมธ.สนช.คือ ขั้นตอนแรกในช่วง 5 ปีแรก ส.ว.ต้องมีส่วนในการร่วมโหวตนายกฯ ตามคำถามพ่วง แต่กรณีการเสนอชื่อนั้นให้เป็นไปตามเงื่อนไข กล่าวคือลงมติในรายชื่อตามที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อในบัญชีที่แจ้งแก่ กกต. ก่อนเลือกตั้ง หากผู้ได้รับการเสนอชื่อได้มติเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภาก็ได้เป็นนายกฯ แต่หากไม่สามารถลงมติได้เสียงข้างมากของรัฐสภาได้ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

สำหรับขั้นตอนที่ 2 ซึ่ง ส.ส.ต้องเข้าชื่อเกินกึ่งหนึ่งหรือ 251 คนขึ้นไปที่จะขอให้มีการประชุมร่วมสองสภาเพื่อยกเว้นเงื่อนไขการใช้บัญชีนายกฯ นั้น สนช.เสนอไปว่าควรจะพิจารณาว่า ส.ว.เมื่อมีส่วนร่วมในการโหวดแล้ว ก็ควรจะได้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อเนื่องจากในขั้นตอนนี้จะไม่มีบัญชีของพรรคการเมืองมาเป็นกรอบเงื่อนไขอีกต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ