คสช.ใช้ม.44 ตั้งคณะกรรมการปยป. สร้างความปรองดอง 4 คณะย่อย-คกก. EEC

ข่าวการเมือง Tuesday January 17, 2017 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช.ให้ความเห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานย่อย 4 คณะ ที่ต้องดำเนินการเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล การเดินหน้าปฏิรูป ตามผลการศึกษาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) และการสร้างความปรองดอง

ซึ่งในเรื่องการสร้างความปรองดองได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไปดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ซึ่งจะใช้เวลาเบื้องต้น 3 เดือนในการรวบรวมข้อคิดเห็น โดยจะเป็นการรับฟังความเห็นของแต่ละพรรค ก่อนกำหนดแนวทางและทำสัญญาประชาคม เช่น การยุติความขัดแย้ง ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง และยอมรับรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมาก เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี คาดหวังจะเห็นความปรองดองเกิดขึ้นให้ได้ แต่ก็อยู่กับความร่วมมือและความจริงใจของทุกฝ่ายด้วย ซึ่งตนเองไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใดและทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้การปรองดองเกิดขึ้นให้ได้ และการปรองดองอยู่จิตใจ รัฐบาลไม่สามารถบังคับให้ใครปรองดองได้ และในขณะนี้นักการเมืองยังไม่ควรพูดถึงการนิรโทษกรรม แต่ควรให้ความเห็นว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้อย่างไร

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายการเมืองหรือสื่อมวลชน สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่จะไม่ยอมให้กับคนที่ออกมาโจมตีประเทศ และอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

นอกจากนี้ คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนการทำงานในระหว่างรอกฎหมายผ่านความเห็นชอบตามกระบวนของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยคณะกรรมการจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการระดับของนโยบาย และคณะกรรมการระดับพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว สร้างมูลค่าการลงทุนให้กับประเทศ โดยพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้แล้ว ที่สำคัญขณะนี้มีนักลงทุนหลายประเทศสนใจเข้ามาลงทุน เช่น อุตสาหกรรมการบิน แต่ยังรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการของไทย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ