(เพิ่มเติม) วิป สปท.ตีกลับ พ.ร.บ.สื่อฯ ไม่มีกำหนด สั่ง กมธ.ทบทวน 3 ประเด็น

ข่าวการเมือง Thursday February 2, 2017 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงผลการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมวิป สปท.พิจารณารายงานการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของ กมธ.ด้านการสื่อสารมวลชน ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งวิป สปท.มีมติให้ กมธ.ด้านการสื่อสารมวลชนนำเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับกลับไปทบทวนเนื้อหาให้มีความรอบคอบ เนื่องจากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะที่มีความสำคัญและมีผลเกี่ยวข้องกับประชาชน

"วิป สปท.เห็นควรให้กมธ.ขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. กลับไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และให้กลับมาเสนอวิป สปท.อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีกำหนดว่าเมื่อใด"นายคำนูณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม วิป สปท.มีความเห็นตรงกันว่าควรต้องมีการปฎิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะการกำหนดกระบวนการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน จากเดิมที่เป็นการควบคุมกันเองโดยสมัครใจยกระดับมาเป็นการควบคุมกันเองโดยสภาพบังคับตามกฎหมาย

ดังนั้น จึงได้เสนอความเห็นและมีหลักการข้อเสนอเบื้องต้น คือ กลไกการควบคุมและกำกับกันเองของสื่อมวลชนโดยสมัครใจนั้นต้องยกระดับเป็นมาตรการทางกฎหมาย ผ่านทางสภาวิชาชีพสื่อมวลชน , กลไกที่ถูกยกระดับจะมีมาตรการเกี่ยวข้องอย่างไร คือ การมีกรรมการที่ต้องมาจากส่วนที่เกี่ยวข้องที่มีที่มาหลากหลาย และ ต้องนำเนื้อหาพิจารณาให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ และเจตนารมณ์ของสื่อมวลชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

"ประเด็นที่สำคัญคือ การตั้งสภาวิชาชีพและการกำหนดสัดส่วนและที่มาของคณะกรรมการในสภาวิชาชีพว่าจะมีกระบวนการสรรหาอย่างไร เพื่อให้เกิดความสมดุล ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ จึงเห็นควรให้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.กลับไปพิจารณาให้ครบถ้วน"นายคำนูณ กล่าว

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้ว่า เชื่อว่าเรื่องนี้คงจะไม่กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งของสื่อกับรัฐบาล เพราะเป็นข้อเสนอของ สปท.ซึ่งยังไม่เป็นที่สุด เพราะยังไปไม่ถึง สนช.และรัฐบาล

"ส่วนตัวยังไม่เคยเห็นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงยังไม่ทราบว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น และไม่ได้เกี่ยวกับ กรธ. จะเข้าไปยุ่งก็ไม่ได้ เพราะถึงเวลา สนช.ก็เป็นผู้ดูกฎหมายเอง แต่ถ้าเบื้องต้นเห็นขัดแย้งกันแต่คุยกันได้ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี" นายมีชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ