"วิษณุ"ปฏิเสธใช้ ม.44 แก้ปมสินบน-ปฏิรูปตำรวจอยู่ระหว่างแก้ไขถ้อยคำ

ข่าวการเมือง Monday February 6, 2017 18:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบละเอียดกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายลดโทษให้กับผู้ให้สินบนในคดีทุจริต คงเป็นแนวคิดของกระทรวงการคลังเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลยังไม่รับรู้ในส่วนนี้ โดยแนวคิดเช่นนี้เคยมีการพูดกันมานานแล้ว เช่น ในสมัยจัดทำกฎหมายเลือกตั้งในบางครั้งก็มีการเขียนไว้ว่า การซื้อเสียงผิดกฎหมาย แต่การขายเสียงไม่ผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้เอาผิดประชาชนและต้องการให้เป็นการล่อซื้อล่อจับคนที่ซื้อเสียง แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้นผิดกฎหมายทั้งคู่ ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อมีการทำผิดกฎหมายในเรื่องดังกล่าวก็ยังคงความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับสินบน

นายวิษณุ กล่าวว่า ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังนั้นในหลักการมีคนล่วงรู้ คือผู้ให้กับผู้รับสินบน แต่หากได้หลักฐานจากภายนอกก็เอาผิดทั้งสองฝ่ายได้จึงไม่มีเหตุที่จะให้มีการลดหย่อนโทษ ยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษ แต่หากเป็นกรณีที่พยานหลักฐานมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ซึ่งโดยหลักคือมีความผิดทั้งคู่ แต่อัยการสามารถกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้เป็นพยาน ซึ่งจากคดีในอดีตก็เคยมีคดีในลักษณะเช่นนี้ แต่ปัญหาคือจะกันใครไว้เป็นพยาน โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่อัยการจะเลือกคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐไว้เป็นพยาน

"นั่นเป็นเรื่องที่กฎหมายเอาผิดทั้งคู่ แต่กันโดยการไม่ฟ้องฝ่ายหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งเคยทำมาแล้วหลายคดีในอดีต ถ้าเพียงแค่นี้มันอาจจะพอรับกันได้ แต่ย้ำอีกครั้งว่าหากพยานหลักฐานมีจากภายนอกชัดก็ไม่ต้องเอาใครเลยมาเป็นพยาน อย่างนั้นก็ไม่ต้องกันใคร ก็เล่นงานทั้งคู่ หลักมันก็มีอยู่แล้วอย่างนี้" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น กฎหมายปัจจุบันก็มีการคุ้มครองพยาน ซึ่งหลักการก็คือถ้าพยานมาชี้เบาะแส และไม่มีหลักฐานอื่นก็อาจจะกันพยานคนดังกล่าวไว้ โดยใช้วิธีสั่งไม่ฟ้อง

ส่วนกรณีผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุชื่อตัวย่อ 2 ก. กับ 1 ส. เกี่ยวพันกับการรับสินบนโครงการจัดซื้อเครื่องยนต์จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการหารือในเรื่องอื่น ยังไม่ได้รายงานเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม แต่ที่มีการเปิดเผยอักษรย่อนั้นอาจเพราะหากไม่ออกมาพูดอะไรเลยก็จะมีข้อครหาว่าไม่แน่จริงหรือปกปิดเอาไว้

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขถ้อยคำ แต่ไม่ได้ถึงขั้นจะไปปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 จะเป็นผู้ดำเนินการ หากรัฐบาลจะทำตอนนี้อาจถูกตำหนิได้ เพราะในรัฐธรรมนูญจะระบุชัดเจนว่าใครเป็นประธานและคณะกรรมการฯ รวมถึงขอบเขตระยะเวลาในการดำเนินงาน

นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลจะทำเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายเฉพาะหน้า เพื่อรองรับช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายนนี้ เพราะตราบใดที่คณะกรรมการฯ ตามมาตรา 260 ยังไม่ทำอะไรก็จะใช้มาตรการชั่วคราวไปก่อน ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อนหรือใหญ่โต และสาเหตุที่ยังไม่ออกมาตรา 44 ในวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เพราะมีถ้อยคำบางคำที่ต้องแก้ไข เนื่องจากต้องไปแก้กฎหมายตำรวจ ซึ่งไม่เหมือนกฎหมายปกติที่เข้าขั้นตอนกฤษฎีกาแล้วต้องช่วยกันดูอย่างรอบคอบ เนื่องจากไปกระทบกับมาตราอื่น เช่น เมื่อพูดถึงผู้มีอำนาจตามมาตรา 44 ก็จะเกิดปัญหาว่าคืออะไร เพราะตามกฎหมายปกติจะแปลอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มาตรา 44 ฉบับนี้จะนำไปปรับแก้ในพระราชบัญญัติตำรวจจนกว่าคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 260 จะทำงานและหากจะรื้อทั้งหมดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนมาตรา 44 จะช่วยแก้ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรจะชัดเจนทั้งหมด แต่เชื่อว่าพอจะบรรเทา ป้องกัน หรือปรามอะไรได้บางอย่าง แต่จะให้แก้ไขทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ โดยทั้งหมดถือเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

สำหรับการนำโมเดลการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทหารมาใช้กับตำรวจจะช่วยลดการซื้อขายตำแหน่งได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ถือเป็นเพียงการอุปมาเท่านั้น เพราะในตำแหน่งทหารเมื่อลงไปถึงยศชั้นประทวนจะไม่มีอำนาจ นอกจากอำนาจในเรื่องของทหาร แต่ตำรวจเมื่อลงไปถึงร้อยตำรวจเอก ร้อยตำรวจโทจะมีอำนาจไปเกี่ยวพันกับสวัสดิภาพของประชาชน เนื่องจากการกระจายอำนาจของตำรวจมีความพิเศษ

นายวิษณุ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ โดยต้องทำอย่างรอบคอบ ซึ่งจะมีเวลาดำเนินการถึงวันที่ 18 ก.พ.นี้ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะที่ฝ่ายอารักษ์ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว พร้อมกันนี้จะมีการเปิดเผยตัวร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วย ทั้งนี้ย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีการปรับแก้ในหมวดที่เกี่ยวกับทางการเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ