สปท.เห็นชอบรายงานปฏิรูปการใช้สื่อโซเซียลมีเดีย เสนอตั้งคกก.จัดทำยุทธศาสตร์-ตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูล

ข่าวการเมือง Monday July 3, 2017 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติด้วยคะแนนเสียง 144 ต่อ 1 เห็นชอบรายงานเรื่องผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนซึ่งจะส่งไปให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

รายงานดังกล่าว กมธ.ได้มีการเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทและนโยบายเกี่ยวกับการรณรงค์ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติ และการประเมินผลงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ได้นำเสนอรายงานตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่กลับมีการนำมาใช้งานอย่างไม่เหมาะสม ผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทันสื่อ ขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ ขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้องจนส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสถาบันหลักของประเทศ

พล.ต.ต.พสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า สิ่งที่น่าวิตกกังวลในปัจจุบันคือสื่อกระแสหลักใช้สื่อออนไลน์มาเป็นเครื่องมือแข่งขันการนำเสนอข่าวจนลืมนึกถึงการกำหนดวาระทางสังคม อย่างเช่นที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวฆาตกรฆ่าหั่นศพจนกลายเป็นเน็ตไอดอล

ทั้งนี้ กมธ.ฯ ได้เสนอแนวทางปฏิรูป 2 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วนที่ต้องทำให้แล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่ การเพิ่มมาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะระบบเติมเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย กสทช.ควรมีมาตรการเสริมการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินที่จะใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน

นอกจากนี้ควรมีการจัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ รวมถึงกำหนดให้ระบบจัดเก็บข้อมูลของบริการ CDN (Content Delivery Network) และ Caching Server ของสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่ติดตั้งในประเทศต้องขึ้นทะเบียนการให้บริการกับ กสทช. และต้องกำหนดให้จัดเก็บ log เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนทางคดี โดย กสทช.ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รวมทั้งการเร่งรัดให้ใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อใช้ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีผู้บริโภค กับการใช้โฆษณาหรือการซื้อขายผ่านสื่อออนไลน์ให้เป็นจริง โดยกรมสรรพากรเป็นเจ้าภาพหลัก

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ คือ การแสดงตัวตนของผู้ใช้โทรศัพท์ให้เป็นข้อมูลไว้ โดยไม่ได้ให้เป็นข้อมูลสาธารณะที่จะทำให้บุคคลก็ได้เข้ามาตรวจสอบ แต่เป็นการเสนอให้ กสทช.ต้องกำหนดให้มีการลงทะเบียนทั้งซิมการ์ดและหมายเลขเครื่องในโทรศัพท์ เพื่อให้มีการควบคุมเท่านั้น

2.ระยะยาว ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับช่วงเวลาของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาทิ การเสริมสร้างปลูกจิตสำนึกที่ดีมีจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ การให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การสร้างภูมิคุ้มกัน และความตระหนักรู้ รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยกระทรวงดีอีควรร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโน โลยี (บก.ปอท.) ในการพิจารณาหามาตรการการลงโทษปรับเจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่ปล่อยให้มีการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิดด้วยความรุนแรง หรือปล่อยให้มีการเผยแพร่เนื้อหาที่มีลักษณะชักชวนหรือโน้มน้าวให้นำไปสู่การกระทำที่รุนแรง หวาดกลัวอย่างมากกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เพื่อให้เจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ เช่น Facebook Youtube มีส่วนร่วมรับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ทำให้เกิดการแพร่หลายของเนื้อหาดังกล่าว

จากนั้น สมาชิกสปท.ได้ทยอยสิทธิอภิปราย ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนรายงานฉบับนี้แต่ตั้งข้อสังเกตอาจมีบางมาตรการที่ไปกระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท. กล่าวว่า การที่ กมธ.ฯ เสนอให้ประชาชนต้องสแกนลายนิ้วมือและใบหน้าในระหว่างการซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่เหมือนกับการทำหนังสือเดินทาง ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดใช้แนวทางนี้อยู่บ้าง และเข้าใจว่าเป็นแนวความคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาในพื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หากนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ทั้งประเทศ จะเป็นการดำเนินการเกินสมควรหรือไม่ และจะขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ