(เพิ่มเติม1) ศาลฎีกาฯ ตัดสินโทษจำคุก"บุญทรง-ภูมิ"คดีขายข้าว G to G พร้อมขรก.-เอกชนที่เกี่ยวข้อง/ศาลไม่ให้ประกันตัว

ข่าวการเมือง Friday August 25, 2017 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาโทษจำคุกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นเวลา 42 ปี และ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 36 ปี ฐานร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวมทั้งลงโทษจำคุกข้าราชการและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และเอกชนอีก 2 รายร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 16,912 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% นับตั้งแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ ส่วนจำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน

โดยวันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 25/2558 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กรมการค้าต่างประเทศ ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ร้อง นายภูมิ สาระผล ที่ 1 กับพวกรวม 21 คน จำเลย และคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2559 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กรมการค้าต่างประเทศ ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ร้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวี ยโสธร ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน จำเลย

คดีแรก (อม.25/2558) โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึง 21 ซึ่งเป็นอดีตรมช.พาณิชย์, รมว.พาณิชย์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ และพ่อค้าข้าว ร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำสัญญาขายข้าวให้แก่บริษัทกวางตุ้ง และบริษัทห่ายหนาน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวม 4 สัญญา โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดทำให้รัฐเสียหาย ความจริงเป็นการขายข้าวบางส่วนให้แก่พ่อค้าข้าวในประเทศเป็นการเสนอราคาซื้อขายโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ งบประมาณแผ่นดิน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประเทศชาติ และประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 151,157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123, 123/1 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญา 2 สัญญา จำนวน 23,598,134,119 บาท และปรับจำเลยที่ 2-21 ร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญาทั้ง 4 สัญญา จำนวน 35,274,611,007 บาท

ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2559 โจทก์ฟ้องคดีที่ 2 (อม. 1/2559) กล่าวหาว่าจำเลยที่ 22 - 28 ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าข้าวอีก 7 ราย สนับสนุนการกระทำความผิดในคดีแรก ศาลจึงสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ยกเว้นจำเลยที่ 3 และที่ 16 ซึ่งหลบหนี

โจทก์อ้างพยานบุคคล 239 ปาก เอกสาร 383 แฟ้ม (หมาย จ.1 - จ.1041)

จำเลยทั้ง 28 อ้างพยานบุคคล 1,166 ปาก เอกสาร 105 แฟ้ม (หมาย ล.1 - ล.780)

การตรวจพยานหลักฐาน ศาลอุนญาตให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวน 27 ปาก จำเลยนำพยานเข้าไต่สวน 103 ปาก รวมพยานบุคคลทั้งหมด 130 ปาก กำหนดนัดไต่สวนรวม 20 นัด

ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2559 มีผู้ร้องทั้ง 5 ซึ่งเป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง อตก. และ อคส. ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 7 - 28 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 26,366,708,172.42 บาท และผู้ร้องทั้ง 5 ขอนำพยานเข้าไต่สวนอีกจำนวนหนึ่ง ศาลอนุญาตให้ไต่สวนพยานบุคคล 7 ปาก เอกสาร 1 แฟ้ม หมาย ร.1 รูปคดีจึงกลายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีส่วนแพ่งตามกฎหมาย คดีจึงเริ่มไต่สวนนัดแรกได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ไต่สวนพยานแล้วเสร็จนัดสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2560

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐย่อมก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญา ผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาจึงต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ ทั้งนี้ อาจเป็นการมอบหมายให้บุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์สำคัญของการทำสัญญา คือต้องการระบายสินค้าออกนอกประเทศ เพื่อให้สินค้าไปตกอยู่แก่รัฐผู้ซื้อ และต้องการเงินตราต่างประเทศ โดยแนวปฏิบัติในการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐเริ่มต้นด้วยการทาบทาม การพูดคุยระดับรัฐมนตรีในเวทีระหว่างประเทศ หรือการประสานงานทางการทูต หรือเป็นตัวแทนของรัฐที่เคยเป็นคู่ค้ากันมาก่อน ส่วนวิธีการซื้อขายด้วยการเจรจาระหว่างผู้แทนของแต่ละฝ่ายอาจไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันราคากัน บางครั้งอาจตกลงซื้อขายในราคาต่ำกว่าตลาด เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับการซื้อขายข้าวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น จะดำเนินการโดย China National Cereals, Oil and Foodstuff Import Export Corporation (COFCO) รัฐวิสาหกิจการค้าภาครัฐที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ธัญพืชของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมถึงข้าว และแนวปฏิบัติที่ผ่านมา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเจรจาผ่าน COFCO เท่านั้น โดยประเทศไทยไม่เคยขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ภายหลังเริ่มต้นโครงการรับจำนำนข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้มีอำนาจให้ความเห็นชอบการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวกรณีขายแบบรัฐต่อรัฐให้รวมถึงการขายให้แก่รัฐวิสาหกิจด้วย และให้ใช้เกณฑ์ราคาขายแบบหน้าคลังสินค้า ซึ่งผิดไปจากแนวทางปฏิบัติในกรณีการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ส่อไปในทำนองว่าจัดทำยุทธศาสตร์การระบายข้าว เพื่อรองรับรัฐวิสาหกิจมาทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐโดยไม่ต้องได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของผู้ซื้อ

หลังจากนั้น นายภูมิได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายข้าว 2 ฉบับให้ขายข้าวแก่บริษัทกว่างตง จำกัด รัฐวิสาหกิจมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 สัญญา สัญญาฉบับที่ 1 ตกลงซื้อขายข้าวทุกชนิดในสต็อกของรัฐบาลไทย ปริมาณ 2,195,000 ตัน ในราคาตันละ 10,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาด ทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นเงิน 9,717,165,177.90 บาท สัญญาฉบับที่ 2 ตกลงขายข้าว 5% ข้าวเหนียว 100% ข้าวหอมมะลิหัก ปีการผลิต 2554/55 ปริมาณ 2,000,000 ตัน ทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหาย 1,294,109,767.87 บาท

ต่อมานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.พาณิชย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวแทนนายภูมิ และได้ให้ความเห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ กับบริษัทกว่างตง 1 ฉบับ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ตกลงขายข้าว 5% และข้าวขาวหักเอวันเลิศ ปีการผลิต 2555 ปริมาณ 1,000,000 ตัน และมีการขอแก้ไขสัญญาปรับเพิ่มปริมาณข้าวขาว 5% อีก 1,300,000 ตัน รวมเป็น 2,300,000 ตัน ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย 5,694,748,116.09 บาท นอกจากนี้ยังให้ความเห็นชอบให้ทำสัญญากับบริษัทห่ายหนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตกลงซื้อขายข้าวเหนียวเอวัน ปริมาณ 65,000 ตัน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 162,665,563.30 บาท

โดยข้อตลกลงตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ มีข้อพิรุธหลายประการ คือ วิธีการชำระเงินด้วยแคชเชียร์เช็ค รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อสามารถนำข้าวไปขายต่อประเทศที่สามเพื่อการพาณิชย์ได้ มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มชนิดและปริมาณข้าวเรื่อยๆ โดยไม่มีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ภายหลังการซื้อขายทั้ง 4 ฉบับ ปรากฎว่ามีการชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คภายในประเทศหลายร้อยฉบับ และรับมอบข้าวไปโดยผู้รับมอบอำนาจที่เป็นคนไทยแล้วนำไปขายต่อให้ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศ โดยไม่มีการส่งข้าวที่ซื้อขายไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือส่งออกไปประเทศอื่น

กระบวนการดังกล่าวกระทำโดยนายภูมิ นายบุญทรง นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) และพวกร่วมกันนำบริษัทกว่างตง จำกัด และบริษัทห่ายหนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑลมาขอซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยแอบอ้างว่าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนมาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการเอาเปรียบแก่กรมการค้าต่างประเทศ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เมื่อราคาข้าวในท้องตลาดลดลง รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อข้าวก็จะไม่ยอมมารับข้าวตามสัญญา แต่มาขอทำสัญญาฉบับใหม่ซื้อข้าวชนิดเดียวกันในราคาต่ำลงกว่าสัญญาเดิม โดยเฉพาะนโยบายการระบายข้าวที่ดำเนินการโดยนายบุญทรง ไม่เปิดประมูลขายข้าวภายในประเทศ ทำให้ข้าวในท้องตลาดขาดแคลน ผู้ประกอบการค้าข้าวไม่สามารถหาซื้อข้าวในท้องตลาดได้ จำต้องไปหาซื้อข้าวจากกลุ่มบริษัทและพนักงานของนายอภิชาติ ซึ่งผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศที่ซื้อข้าวต่อจากนายอภิชาติกับพวกนั้น ศาลเห็นว่าเป็นการซื้อโดยไม่ทราบว่าเป็นข้าวที่มาจากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-21 ยกเว้นจำเลยที่ 3 และ 16 ซึ่งหลบหนี มีความผิดตามฟ้อง โดยให้จำคุกนายภูมิ 36 ปี, นายบุญทรง 42 ปี, นายมนัส 40 ปี, นายทิฆัมพร 32 ปี, นายอัครพงศ์ 24 ปี, นายอภิชาติ 48 ปี ส่วนจำเลยอื่น ศาลลงโทษจำคุกลดหลั่นลงตามพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งการกระทำผิด และพิพากษาให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 นายอภิชาติ จำเลยที่ 14 และนายนิมล หรือโจ จำเลยที่ 15 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ จำเลยอื่นให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามส่วนเช่นเดียวกัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 22-28

ส่วนนางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21 บุตรสาวนายอภิชาติ วันนี้ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยยื่นคำร้องว่าอาหารเป็นพิษ ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และนัดมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย.

และภายหลังจากที่ศาลได้มีคำตัดสินแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งหมดขึ้นรถเรือนจำเพื่อนำไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ล่าสุด ศาลยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัวนายบุญทรงและจำเลยทั้งหมดที่ถูกศาลสั่งให้จำคุก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ