ที่ประชุมร่วมประธานคณะกรรมการปฏิรูปวางกรอบทำงานตั้งเป้าเสร็จร่างแรก ธ.ค.60

ข่าวการเมือง Thursday September 7, 2017 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมร่วมประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เห็นชอบร่างระเบียบการประชุม และหลักเกณฑ์ วิธีการในการยกร่างแผนปฏิรูปและการรับฟังความคิดเห็น โดยกรอบร่างแผนปฏิรูปร่างที่ 1 ต้องแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.60 เพื่อเสนอและไปรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนที่จะปรับปรุงให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.61

ที่ประชุมฯ เห็นชอบร่างระเบียบ 2 ฉบับ คือ 1.ร่างระเบียบที่เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ คณะต่างๆ ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการชุดต่างๆ ก็เริ่มเดินหน้าทำงานได้ และ 2.ร่างระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการในการยกร่างแผนปฏิรูป และการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะใช้การรับฟังความคิดเห็นในทุกรูปแบบ ทั้งการออกไปยังพื้นที่ต่างๆ และการเชิญหน่วยงานราชการมาให้ความเห็น รวมถึงการไปพบกับมวลชนกลุ่มต่างๆ เอ็นจีโอ และการรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ทำความเข้าใจถึงกรอบที่จะยกร่างการปฏิรูป เพื่อให้คณะกรรมการทุกชุดได้เข้าใจตรงกัน โดยให้ยึดหลักใน 3 ด้าน คือ 1.ให้ยึดตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในมาตรา 257-260 ได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปไว้แล้ว 2.ให้นำข้อสรุปจาก สปท. และ สปช.ที่เคยทำไว้กว่า 130 เรื่อง นำมาประกอบการพิจารณา และ 3.เป็นเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ไปคิดกันเอง จากผลจากการรับฟังความเห็นจากประชาชน และให้นำความเห็นจากแต่ด้านมาสรุปเป็นแผนคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดในอีก 8 เดือนข้างหน้า หรือเดือน เม.ย.61

นายวิษณุ กล่าวว่า หลังจากนี้คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้าน สามารถเดินหน้าทำงานได้ทันที โดยจะต้องทำกรอบร่างแผนปฏิรูป ร่างที่ 1 ให้แล้วเสร็จในช่วงเดือน ธ.ค.60 เพื่อเสนอและไปรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนที่จะปรับปรุงให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.61 ซึ่งแผนปฏิรูปที่ออกมาจะเป็นแผนให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม และคณะกรรมการปฏิรูป จะทำหน้าที่คอยตรวจสอบดูแล ติดขัดตรงไหน หรือแผนปฏิรูปไม่ดีก็จะคอยแก้ไข

ทั้งนี้หากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามแผนปฏิรูปดังกล่าวคงไม่ถึงขั้นการลงโทษ เพราะบางทีอาจจะทำด้วยความไม่รู้ อาศัยความเคยชินเก่าๆ แต่จะใช้วิธีการให้คำแนะนำถึงแนวทางที่ถูกต้อง แต่หากยังจงใจที่จะฝ่าฝืนจะใช้มาตรการทางการบริหารและการปกครอง

"ถ้าหากคุณเป็นอธิบดีทำไม่ได้ใช่หรือไม่ คุณทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ เดี๋ยวให้คนอื่นมาทำ คุณก็ไปเป็นผู้ตรวจแทน อะไรทำนองนั้น จนกระทั่งไปถึงจุดนึง ที่ทำตรงข้ามเลย หน้ามือหลังมือ หากเป็นแบบนั้นก็คงต้องใช้ มาตรการที่รุนแรงไปถึงขั้นกฎหมาย แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น ผมเชื่อว่าพูดนิดเดียวเขาก็ยอมแล้วล่ะ อย่างน้อยมันมีเครื่องมืออยู่ในมือของรัฐบาล สำหรับคนที่ไม่ปฏิบัติตาม เช่น แต่งตั้งโยกย้าย ตัดงบประมาณ และอาจใช้วิธีไม่ลงโทษ แต่ให้รางวัลจูงใจ เพิ่มงบฯให้หน่วยงานที่เขาเต็มใจปฏิบัติตาม มันไม่ไปถึงขั้นติดคุกติดตารางกันง่ายๆหรอก" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า แผนปฏิรูปที่ออกมา หน่วยงานก็ต้องยึดปฏิบัติตามภายใน 5 ปีนี้ แต่บางเรื่องก็ต้องดำเนินการภายใน 6 เดือนหรือ 1 ปี แต่ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องทำตามแผนปฏิรูปทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องไหนที่อยู่นอกเหนือการปฏิรูป ก้ถือเป็นการปฏิบัติตามราชการตามปกติ และแผนการปฏิรูปฯ อาจจะไม่ลงไปในรายละเอียด แต่อาจจะเขียนกฎหมายฉบับหนึ่งและให้กรมต่างๆไปร่างระเบียบเอาเองถือเป็นความอิสระคล่องตัวอยู่ และหากกระทรวงใด เห็นว่าอาจจะรู้สึกว่าไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ให้เสนอมา เพื่อที่จะแก้แผนปฏิบัติรูปได้ ซึ่งการแก้ไขแผนปฏิรูปสามารถทำได้ง่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ