(เพิ่มเติม) อัยการสูงสุด แถลงยื่นศาลฎีกาฯรื้อคดี"ทักษิณ"กรณี KTB ปล่อยกู้กฤษดาฯ-แปลงสัญญาโทรคมฯ

ข่าวการเมือง Tuesday November 21, 2017 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบในคดีที่ทางอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาทุจริตการออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และในข้อหาทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยแก่กลุ่มกฤษดามหานคร

โดยเห็นพ้องให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งให้มีการดำเนินการกระบวนพิจารณาต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยตามกฎหมายใหม่ ซึ่งในวันนี้ทางพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศาและพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เรียบร้อยแล้ว

การยื่นคำร้องต่อศาลทั้ง 2 คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการประกาศใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 โดยคดีทั้ง 2 อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนายทักษิณ ต่อศาลฎีกาฯ ไว้แล้วตั้งแต่ปี 51 และปี 55 ตามลำดับ และศาลได้ประทับรับฟ้องคดีทั้ง 2 ไว้แล้วเพียงแต่ไม่อาจดำเนินกระบวนการพิจารณาในส่วนนายทักษิณได้ เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่ต่อหน้าศาล

ดังนั้น เมื่อมีการตราพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ประกอบบทเฉพาะกาล มาตรา 69 และ 70 ให้ศาลฎีกาฯ ดำเนินการบวนการพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ทางสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะหน่วยบังคับใช้กฎหมาย จึงจำต้องยื่นคำร้องในครั้งนี้อันเป็นการปฎิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายที่ตราขึ้นดังกล่าว

"อัยการทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ไม่ได้พุ่งเป้าที่จะทำเฉพาะคดีของนายทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ตรวจสอบแล้วมีคดีที่เข้าข่าย 2 เรื่อง...ไม่ใช่การรื้อคดีขึ้นมาทำใหม่ แต่เป็นคดีเดิมที่นำขึ้นสู่ศาลแล้ว ข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับคดีที่เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นการคาดเดาคงต้องรอให้ศาลชี้ว่าจะมีคำสั่งอย่างไร อัยการคงไม่สามารถตอบได้เพราะได้ยื่นเรื่องต่อศาลไปแล้ว" นายวันชาติ กล่าว

นายวันชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาฯ จะใช้ระบบไต่สวนที่ศาลจะลงมาแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งแตกต่างไปจากกระบวนการพิจารณาของศาลอาญาที่ใช้ระบบกล่าวหาซึ่งอัยการจะต้องเสนอหลักฐานเพื่อนำไปสู่การพิจารณา

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จำเลยสามารถตั้งทนายความต่อสู้คดีได้ตลอดเวลาตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน ส่วนการติดตามตัวจำเลยนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของคดี ซึ่งกรณีนี้อยู่ในความรับผิดชอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

สำหรับการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่สามารถระบุได้ว่าพำนักอยู่ที่ใดจึงไม่สามารถส่งเรื่องขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ