นายกฯ วอนทุกฝ่ายใช้เหตุผลกรณีปัญหาก่อสร้างโรงไฟฟ้า-อย่าเคลื่อนไหวกดดัน ยันรัฐบาลรับฟังทุกความเห็น

ข่าวการเมือง Saturday December 2, 2017 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยได้ชี้แจงถึงปัญหาความขัดแย้งในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าว่า สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ วันนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญและเป็นประเด็นร้อน จึงได้มอบหมายให้ รมว.พลังงาน ไปดำเนินการให้ได้ข้อยุติปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รมว.พลังงานเดิมก็ไม่ได้ไปกำหนดว่าต้องสร้างหรือไม่ต้องสร้าง เพราะอยู่ในขั้นตอนอยู่ทั้งหมด

"บางทีสื่อก็ไม่ทราบ ประชาชนก็ไม่รู้อีก หรือบางทีก็ไม่สนใจ ไปสนใจแต่เพียงว่าสร้างหรือไม่สร้าง จริง ๆ มีขั้นตอนทั้งหมด ที่ผ่านมาขั้นตอนต่าง ๆ ก็ผ่านมาแล้ว แต่เมื่อทำไม่ได้ รัฐบาลผมก็ได้สั่งการให้มีการทบทวนว่า ถ้าทำได้ก็จะดีกว่าทำไม่ได้ แล้วถ้าทำได้ จะมีการขัดยังกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นประชาชนก็ต้องฟังบ้าง ไม่ใช่จะดึงดันกันไปทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลไม่อยากจะดึงดันอะไรกับใครทั้งสิ้น เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนในการก่อสร้าง พื้นที่ในการก่อสร้าง แล้วก็ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า" นายกรัฐมนตรีกล่าว

พร้อมระบุว่า หลายคนบอกว่าค่าไฟฟ้าแพง อยากให้ค่าไฟฟ้าลดลง แต่ทั้งนี้คงจะลดลงไม่ได้ถ้าการผลิตต่าง ๆ ไฟฟ้าจากพลังงานหลักมาจากส่วนกลาง หรือในภาคอื่นแล้วส่งลงไปพื้นที่ห่างไกล บวกต้นทุนในเรื่องของการทำสายส่งด้วย เพราะฉะนั้นต้นทุนจะเกิดจากแหล่งที่ก่อให้เกิดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส เป็นน้ำมัน เป็นถ่านหิน ลิกไนต์ แล้ววันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่จะแก้ปัญหาเดิม ๆ ได้ เพราะฉะนั้นนี่คือต้นทุนอันที่หนึ่ง อันที่สองคือเทคนิคในการก่อสร้างโรงงานก็แพงขึ้น อันที่สามคือสายส่ง ซึ่งเหล่านี้จะทำให้บวกเข้าไปในค่าต้นทุน

"อีกเรื่องหนึ่งคือการไปซื้อมาจากต่างประเทศ ซึ่งวันนี้ก็ซื้อได้ แต่ถ้าวันหน้าเขาขายน้อยลง หรือเขาตั้งราคาขายสูงขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไร จะมีคำตอบหรือไม่ว่า เราจะดูแลประชาชนเราได้อย่างไร ก็อยากให้คำนึงถึงทุกมิติ เหล่านี้คือต้นทุนการไฟฟ้าทั้งสิ้น ค่าไฟฟ้าทั้งสิ้น แล้วค่าไฟฟ้าทั้งหมดนี้ ทั้งต้นทุนการผลิต ทั้งราคา ทั้งการดำเนินงาน การบริหารจัดการทั้งหมด รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อรวมมาแล้ว ถ้าสิ่งเหล่านี้สูงเกินไป มากเกินไป อะไรที่ควรประหยัด ไม่ได้ประหยัด เทคโนโลยีใหม่ก็มีแล้วไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ เหล่านี้เป็นปัญหาในอนาคต ต้องฝากทุกคนช่วยกันคิดด้วยแล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พร้อมระบุว่าไม่ต้องการเห็นปัญหาความขัดแย้งบานปลาย และหากประชาชนมีข้อมูลที่อยากนำเสนอก็ขอให้ส่งเข้ามาได้หลายช่องทาง ซึ่งตนพร้อมจะรับฟังและพร้อมจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปชี้แจงหรือให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจ เพียงแต่ขอร้องเรื่องการออกมาเคลื่อนไหวกดดันแล้วอ้างว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกัน

"รัฐบาลพร้อมจะตอบคำถามทุกคำถาม แล้วก็ฟังทุกคน เพียงแต่ว่าหลักการประชาธิปไตยว่าอย่างไร นักการเมืองก็กรุณาไปดูด้วยว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ทุกคนต้องช่วยกัน ขอให้ทุกคนมั่นใจ ผมยืนยันว่าผมจะเร่งดำเนินการให้ได้ โดยคำนึงถึงกฎหมาย กฎระเบียบ อันไหนที่ไม่เป็นสากลไม่ทันสมัยก็ต้องแก้ไข ก็ต้องช่วยผม ไม่อย่างนั้นทุกคนไม่ต้องการอะไรเลย ต้องการเหมือนเดิมทั้งหมด ไม่ได้" นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้านั้นมีหลายประเด็นที่ประชาชนยังสงสัย เช่น 1.มีการย้ายวัดและโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนมูลนิธิอิตีซอมวิทยา ซึ่งได้มีการหารือในพื้นที่ไปแล้วว่าจะมีการเคลื่อนย้ายไปพื้นที่แห่งใหม่ จะห่างจากที่ตั้งเดิมไม่เกิน 5 กิโลเมตร

2.การโยกย้ายประชาชน วันนี้ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้นสักอย่าง เพราะยังไม่ได้ทำยังไม่ได้เริ่ม เพราะฉะนั้นถ้าผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วถึงจะไปเริ่มต้น ก็ต้องไปดูเรื่องการเยียวยา การดูแลที่อยู่อาศัย หรือค่าเยียวยาต่าง ๆ ให้เหมาะสม แต่วันนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษา EIA + HEIA ยังไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพราะฉะนั้นก็ต้องไปหาความจริงให้ได้ทั้งหมด

3.เรื่องสิ่งปลูกสร้างในทะเลจะกีดขวางการไหลของน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่ วันนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันล่วงหน้าไปแล้วในพื้นที่ ซึ่งคนส่วนใหญ่รับฟัง โดยได้มีการกำหนดมาตรการรองรับชัดเจน เช่น การทำเขื่อนป้องกัน จึงไม่มีผลกระทบต่อการสัญจรทางเรือ ชีพประมง และการกัดเซาะชายฝั่ง แต่การก่อสร้างย่อมมีผลกระทบอยู่บ้างในช่วงแรก พอสร้างเสร็จแล้ว ปลา สัตว์น้ำต่างๆ ก็กลับเข้ามาอยู่ใหม่เหมือนเดิม

4.การใช้ถ่านหินคุณภาพดี ประเภท “บิทูบินัส" และ “ซับบิทูบินัส" เราจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเรือบรรทุกแบบปิดที่เรียกว่าระบบปิดคลุมทุกอย่าง ไม่มีการใช้ถ่านหินจากแหล่งในประเทศที่มีการกล่าวอ้างกัน

5.การใช้น้ำทะเลเป็นน้ำหล่อเย็น มีระบบกำจัดการสะสมของโลหะหนัก ที่ทุกคนเป็นห่วงมีการควบคุมการปรับคุณภาพน้ำ ก่อนที่จะระบายสู่ทะเลธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ประเภท 1 คือ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล โดยเราก็ใช้สัตว์น้ำ อาทิ หอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ ณ จุดปล่อยน้ำ

"ผมขออนุญาตนำเฉพาะประเด็นที่สงสัยกันมานำเสนอให้ทุกคนได้พิจารณาร่วมกัน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงพลังงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องมีข้อมูลพร้อมตอบ และสร้างความเข้าใจ ฝากพี่น้องประชาชนที่เห็นด้วย ช่วยกรุณาทำความเข้าใจกับผู้ไม่เห็นด้วยด้วย อย่าให้รัฐบาลต้องไปตัดสินเลย ก็จะเป็นปัญหากระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนอีก แล้วเราก็จะถูกจับตามองอย่างที่ท่านกล่าวอ้าง มีใครอยากจะทำ รัฐบาลนี้ไม่อยากทำ แต่ถ้าไม่ทำแล้วมันเกิดขึ้นต่อไป ขยายไปหลายกลุ่มหลายฝ่ายแล้วจะหยุดกันได้หรือไม่ ก็หยุดไม่ได้อีก ต้องแก้ด้วยเรากันเองคือ ข้าราชการ ประชาชน ภาคเอกชน ก็ต้องร่วมมือหารือกัน เพราะว่าเราต้องพัฒนาไปสู่การมีแหล่งพลังงานที่เหมาะสม เพียงพอเพื่ออนาคต เพราะเราจะลงทุนต่าง ๆ มากมาย ถ้าไฟฟ้าไม่พอ ไม่มั่นคง ติดๆ ดับๆ หรือไฟฟ้าตก อันนั้นอันตราย หรือต่อไปไม่มีการส่งพลังงาน ท่อแก๊สมาจากต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีขายไฟฟ้าต่อไป เพราะว่าเขาเอาไว้ใช้ในประเทศของเขา เราจะทำอย่างไร คิดอนาคตไว้ด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ