(เพิ่มเติม) ประธานสนช. โยนที่ประชุมชี้ขาดส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติ ป.ป.ช.หรือไม่

ข่าวการเมือง Friday January 12, 2018 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ชี้แจงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีข้อท้วงติงให้ สนช.พิจารณาว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการยกเว้นการบังคับใช้ลักษณะต้องห้ามกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำรงตำแหน่งต่อไปว่า เป็นดุลยพินิจของสมาชิก สนช.ว่าจะเข้าชื่อกันไม่ต่ำกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิก เพื่อยื่นตีความหรือไม่

ส่วนจะต้องไปหารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่นั้น นายพรเพชร ระบุว่า ยังไม่จำเป็น เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของ สนช. หลังจากวันนี้จะเป็นหน้าที่ของ สนช.ว่าจะคิดเห็นอย่างไร

"ไม่สามารถสั่งการให้ สนช.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ และขอยืนยันว่าใน สนช.ไม่มีความขัดแย้งกันต่อประเด็นดังกล่าว" นายพรเพชร กล่าว

ส่วนกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีข้อเสนอแนะให้ สนช.พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งต่อไปของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน เนื่องจากบทบัญญัติในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการยกเว้นให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีลักษณะต้องห้าม คือ เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระมาก่อนยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ โดยนายมีชัยแสดงความคิดเห็นว่าควรจะต้องมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เด็ดขาดว่าสามารถกำหนดการยกเว้นลักษณะต้องห้ามได้หรือไม่

ขณะที่ในส่วนของ ป.ป.ช.ยังไม่ส่งข้อโต้แย้งใดๆ ซึ่งต้องรอความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจากป.ป.ช.ในวันนี้ (12 ม.ค.) ก่อน เพราะเป็นวันครบกำหนดตามรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งเรื่องโต้แย้งมายัง สนช. รวมทั้งรอสมาชิก สนช. แต่ละคนด้วยว่าจะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าวหรือไม่ หากไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ สนช. จะส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช. ไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากมีการยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญจริง ส่วนตัวคิดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ประการใดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คนที่หมดวาระไปแล้ว แต่ยังคงสามารถทำหน้าที่รักษาการต่อไปได้จนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ เหมือนกับกรณีของกรรมการการเลือกตั้ง และ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่รักษาการโดยมีอำนาจเต็มอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ