(เพิ่มเติม)"วิษณุ"คาดหัวหน้า คสช.กำหนดโรดแมพสุดท้าย-เคาะวันเลือกตั้งราว มิ.ย.61 พร้อมเชิญทุกพรรค-กกต.หารือ

ข่าวการเมือง Thursday January 25, 2018 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านกฎหมายของรัฐบาลแก่สื่อมวลชน ในกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” หัวข้อ “กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย” และแถลงเรื่อง “แผนปฏิรูปประเทศไทย”ว่า คาดว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเรียกประชุมหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อกำหนดโรดแมพสุดท้ายของประเทศ ได้ภายในเดือนมิ.ย.61 นี้ ซึ่งจะเป็นโรดแมพที่ชัดเจนที่สุด พร้อมทั้งกำหนดวันเลือกตั้งหลังกระบวนการในส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ นายวิษณุ ประเมินว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณากฏหมายเกี่ยวกับเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้ แต่หากมีข้อทักท้วงเพิ่มเติมจะมีการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณา คาดใช้เวลาประมาณ 1 เดือนแล้วเสร็จราวเดือน ก.พ. จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ราวเดือน มี.ค.และรอรับการโปรดเกล้าฯ ประมาณ 90 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ภายในเดือน มิ.ย.เมื่อมีผลบังคับใช้เริ่มกระบวนการเลือกตั้งนับหนึ่งไป 150 วัน ซึ่งช้าที่สุดการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.พ. 62

นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าในการปฎิรูปกฎหมายที่ล้าหลังหรือไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งมีมากกว่า 7,000 ฉบับ โดยจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกฎหมายบางฉบับ และปรับปรุงให้ทันสมัย ซึ่งก็จะทยอยดำเนินการต่อไป โดยเรื่องนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจด้วย เช่น พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนของประเทศ นอกจากนี้ ยังใช้กลไกลทางกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการตั้งศูนย์อำนวยการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ที่บูรณาการทุกหน่วยงานในการปราบทุจริต ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

อีกทั้งได้ดำเนินการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจิตโดยตรง ที่ทำให้การพิจารณาคดีทุจริตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งให้ความมั่นใจว่าจะสามารถบังคับใช้กับทุกคน ไม่เลือกว่าจะเป็นผู้มีอำนาจหรือไม่ ถึงแม้ว่าวันนี้จะมีเล็ดลอดการตรวจสอบไปได้ แต่มีตัวอย่างในอดีตให้เห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ช้าหรือเร็ว ความผิดก็จะปรากฎ และถูกดำเนินการตามกฎหมายทั้งสิ้น

ส่วนกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการของเอกชนไทยที่ก่อตั้งองค์กรทุจริตในประเทศ และได้เข้าไปเป็นสมาชิกขององค์กรนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเช่นเดียวกัน จึงถือเป็นกรณีของเอกชนกับเอกชน ไม่ใช่การดำเนินการของรัฐบาล และรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นสมาชิก ดังนั้นเรื่องนี้ไม่กระทบกับภาครัฐของประเทศ ในขณะที่การตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลจากองค์กรต่างประเทศก็ยังเป็นไปตามปกติ

ทั้งนี้ นายวิษณุ พร้อมด้วยนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้โชว์เอกสารแผนปฎิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน ที่ยังไม่รวมคณะกรรมการปฎิรูปการศึกษา และคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่ย่อมาจากผลการสรุปการปฎิรูปในแต่ละด้านว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ 11 ด้าน บวก 2 คณะ คือ ตำรวจและการศึกษา โดยทุกคณะได้ร่างพิมพ์เขียวเสร็จแล้ว ถือว่าเป็นการยกร่างที่ 1 จนเป็นแผนปฏิรูปที่ชัดเจนที่ระบุไว้ว่าการปฏิรูปแต่ละด้านมีประเด็นและกิจกรรมมีอะไรบ้าง พร้อมทั้งระบุระยะเวลาที่ต้องดำเนินการไว้ชัดเจน รวมถึงหน่วยงานใดดำเนินการ และใช้งบประมาณเท่าไร อย่างไร

ซึ่งจากนี้ไปประมาณเดือน ก.พ.จะเสนอแผนให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และในเดือน มี.ค. หรือ ต้นเม.ย. จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ โดยจากนี้ไปจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหรือสื่อพร้อมกับเปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์ โดยจะนัดแถลงเป็นกลุ่ม เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยให้ประธานแต่ละคณะแถลงข่าวทุกช่องทางการสื่อสาร

นายวิษณุ กล่าวว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบความสอดคล้องแผนปฏิรูปประเทศกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำหรือประเทศที่มีรายได้สูง และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเน้นการพัฒนาด้านโครงสร้างและเชื่อมโยงระหว่างแผนหรือนโยบายรัฐบาล และฝากเรื่องการประชาสัมพันธ์ของทุกแผนปฏิรูปว่า ประชาชนได้อะไรจากการปฏิรูปครั้งนี้ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่การเชิญประชาชน หรือหน่วยงานรัฐ หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับจะเปิดเวทีเฉพาะของแผนปฏิรูปโดยเน้นการพบปะพูดคุยเฉพาะเช่น ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม

ทั้งนี้แผนปฏิรูป 11 ด้าน มีการนำเสนอข้อเสนอแนะ ทั้งที่เป็นข้อเสนอใหม่ ต้องใช้เวลาในการศึกษาเพิ่มเติมด้วย และบางข้อเสนอเป็นงานประจำของหน่วยงานเฉพาะอยู่แล้วที่ต้องไปดำเนินการ หรือบางข้อเสนอเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมาย สามารถรวบรวมได้ จำนวน 119 ฉบับ บางส่วนเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ และปรับปรุงกฎหมายเดิม โดยจะเร่งดำเนินการต่อไป

สำหรับข้อเสนอของแต่ละคณะที่น่าสนใจ เช่น คณะปฏิรูปการเมือง เน้นการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม แบบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง โดยจะให้มีโรงเรียนประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นด้วยการบรรจุเป็นหลักสูตรพิเศษสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา โดยไม่ได้เป็นการตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นมา, คณะปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน เน้นการให้บริการภาครัฐที่ทันสมัยตอบโจทย์ชีวิตประชาชน ด้วยการนำระบบดิจิทัล e–government มาใช้ให้มากขึ้น รวมถึงให้ทบทวนความเป็นนิติบุคคลใหม่ของทุกหน่วยงานภาครัฐ 20 กระทรวง และ 140 กรม เพราะเมื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคลเกิดปัญหาตามมา เช่น งบประมาณเหลือจ่ายไม่สามารถแบ่งหรือจัดสรรให้ต่างกรมหรือต่างกระทรวงได้

คณะปฏิรูปกฎหมาย เน้นการปฏิรูปกฎหมายที่ช่วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงให้ทบทวนกฎหมายทั้งหมด และให้ออก พ.ร.บ.กลางเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การออกกฎหมายใหม่ ต้องมีการพิจารณาถึงความจำเป็นเท่านั้น, คณะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านความเป็นธรรม, คณะปฏิรูปเศรษฐกิจ เน้นการแข่งขันลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน โดยมีแนวคิดการตั้งสำนักงานแก้ปัญหาความยากจน, คณะปฏิรูปสิ่งแวดล้อม เน้นการดูแลทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบ

คณะปฏิรูปสาธารณสุข เน้นการให้บริการสุขภาพแบบถึงตัวประชาชน และเสนอให้ตั้งแพทย์ครอบครัวขึ้นทุกตำบล เน้นการรักษาพยายามประชาชนถึงบ้านโดยเน้นคนจนที่ขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการของรัฐบาล, คณะปฏิรูปสื่อสารมวลชน เน้นดุลยภาพเสรีภาพกับการกำกับด้วยความชอบธรรม หรือเสรีภาพบนความรับผิดชอบ, คณะปฏิรูปสังคม เน้นการสร้างบทบาทชุมชนให้เข้มแข็ง, คณะปฎิรูปพลังงาน เน้นส่งเสริมโซลาร์ฟาร์ม และคณะปฏิรูปการทุจริต เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแสการทุจริต

นายวิษณุ ยังย้ำว่า การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามแนวทางปฎิรูปประเทศ จะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การพิจารณากฎหมายจะใช้ที่ประชุมร่วม 2 สภา เพื่อออกกฎหมายให้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนนั้น นายวิษณุ ชี้แจงว่า เป็นคำสั่งหนึ่งของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีทุกกระทรวง หน่วยงานราชการ โดยมี รมว.มหาดไทยเป็นเลขานุการชุดนี้ และมีคณะกรรมการในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยจะลงไปขับเคลื่อนการทำงานแนวทางประชารัฐให้ลงถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และถือเป็นแผนปฎิรูประเทศในด้านหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ