นายกฯ ขอบคุณม็อบต้านโรงไฟฟ้าเทพาสลาย-รัฐรับข้อเสนอเตรียมศึกษาความเหมาะสมอีกครั้ง

ข่าวการเมือง Tuesday February 20, 2018 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ขอบคุณกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ยอมยุติการชุมนุม และเดินทางกลับ หลังจาก รมว.พลังงานชี้แจงทำความเข้าใจและรับข้อเสนอของผู้ชุมนุม 3 ข้อ

ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและฝ่ายมั่นคงจะไปดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยต้องมีนักวิชาการที่มีความเป็นกลางมาร่วมศึกษา จึงขออย่ามีการขยายความขัดแย้งเพิ่มเติม ขณะเดียวกันหลังจากนี้ต้องไปหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ค่าไฟของทั้งประเทศปรับตัวสูงขึ้น และหากไม่สร้างในจุดดังกล่าวจะไปดำเนินการในพื้นที่ใด ก็จะพิจารณากันอีกที

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝากไปยังกลุ่มต่างๆที่เคลื่อนไหวขณะนี้ ต้องฟังเหตุผลซึ่งกันละกัน อะไรที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ก็ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน ไม่อยากให้สร้างความวุ่นวายให้ชาติบ้านเมืองอีก และการที่ศาลคุ้มครองในกรณีโรงไฟฟ้า ก็คุ้มครองใน 2-3 ประเด็น อะไรที่นอกเหนือจากที่ศาลคุ้มครองก็มีความผิด ซึ่งที่พูดไม่ใช่การข่มขู่ แต่อย่าลืมว่ากฎหมายมีหลายฉบับไม่ใช่ศาลคุ้มครองแล้วจะทำอะไรก็ได้ เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองเสียหายในขณะที่บ้านเมืองกำลังเดินหน้า

ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ยุติการชุมนุมที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) แล้ว หลังจากได้ข้อสรุปร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับ รมว.พลังงาน ในการที่จะให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดสงขลาให้แล้วเสร็จก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน

ก่อนหน้านี้ ได้เคยมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในทั้ง 2 โครงการไว้แล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมมีความกังวลและไม่มั่นใจต่อผลการศึกษาที่ออกมา เนื่องจากมองว่าไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ จึงได้ขอให้ยกเลิกรายงานฉบับนั้นแล้วมาทำ SEA แทน

"SEA เป็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แต่เป็นทางยุทธศาสตร์ คือมีระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้กลุ่มผู้ที่เห็นต่างเกิดความสบายใจ ว่าได้มีการทำรายงานผลกระทบทางยุทธศาสตร์ว่าโครงการมีความเหมาะสมหรือไม่ในพื้นที่นั้นๆ ถ้าผลการศึกษา SEA ออกมาว่าเหมาะสมจริง ก็ให้ไปศึกษา EIA ใหม่ แต่ถ้าผลการศึกษาออกมาแล้วว่าไม่เหมาะสม ก็ให้ยกเลิกโครงการ" พล.ท.สรรเสริญกล่าว

พร้อมระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมองว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีการว่าจ้างนักวิชาการที่มีความเป็นกลางมาเป็นผู้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ดังนั้นในการจัดทำรายงาน SEA รอบนี้ขอให้รัฐบาลว่าจ้างนักวิชาการที่มีความเป็นกลางเข้ามาทำการศึกษาโครงการ ซึ่งทั้งสองฝ่ายทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม และรมว.พลังงาน จึงได้มีความเห็นชอบตรงกันในประเด็นนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้สอบถามถึงกรณีการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกร่วมกันของทุกฝ่ายต่อไป

"นายกฯ ขอให้ไปดูรายละเอียดของคดีความด้วย เพราะวันนี้ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจในเจตนารมย์ร่วมกัน ว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้ผลการศึกษาได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับความเป็นจริง จะได้ตกลงร่วมกันในวันข้างหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีต้องไปดูว่าจุดที่ลงตัวจะอยู่ตรงไหน อย่างไร" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ