ศาลรธน.นัด 11 เม.ย.ฟังคำสั่งรับ-ไม่รับไว้พิจารณา กรณีกฎหมายลูก ส.ส.และคำสั่งคสช. 53/2560

ข่าวการเมือง Monday April 9, 2018 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฯ และศาลฯ ได้รับไว้พิจารณา โดยอยู่ระหว่างกระบวนการขอรับความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อให้กระบวนการพิจารณามีความครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถอำนวยความยุติธรรม และประโยชน์ในการปกครองประเทศได้

ทั้งนี้ ในส่วนของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ได้ส่งมาแล้ว ซึ่งศาลฯ นัดให้มาฟังคำสั่งว่าจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณาในวันที่ 11 เม.ย.นี้ ซึ่งรวมทั้งคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีคำสั่งคณะรักษาความปลอดภัยที่ 53/2560 ด้วย

ส่วนกรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นมาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากฎหมายด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาการเลือกตั้งนั้น นายเชาวนะ กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายลูกที่เข้ามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญเวลานี้ ได้ทยอยเข้ามาหลายฉบับต่อเนื่องกัน หลักการดำเนินของศาลก็จะเร่งรัดเป็นกรณีพิเศษอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ แต่เรื่องกรอบเวลาต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ที่จะทยอยเข้ามาด้วย

ทั้งนี้ การส่งเรื่องเข้ามาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น จะมีกระบวนการและรูปแบบที่จะพิจารณาตามหลักฐานที่เคยพิจารณาไว้ มาประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในคดีนั้นๆ ส่วนเรื่องกรอบเวลาต่างๆ ศาลจะพิจารณาร่วมกันไปด้วยว่าต้องนำไปใช้ในการบริหารบ้านเมืองด้านต่างๆ อย่างไร แต่ยังไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ว่าจะเสร็จเมื่อใด เพราะมีการพิจารณาจากส่วนองค์กรที่เกี่ยวข้องมาประกอบด้วย

ส่วนที่มีหลายฝ่ายพยายามบอกว่าการเลือกตั้งจะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณากฎหมายนั้น นายเชาวนะ กล่าวว่า ศาลทำหน้าที่ด้วยกรอบของรัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรมอย่างดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ส่วนเรื่องเวลานั้นก็ขึ้นอยู่กับส่วนที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่โดยหลักแล้วศาลให้ความสำคัญกับกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหาร และการปกครองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี นายเชาวนะ กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้พร้อมกันหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ