ศาลฎีการับฟ้องคดี"ทักษิณ"ตั้งคลังฟื้นฟู TPI นัดพิจารณาครั้งแรก 22 มิ.ย.

ข่าวการเมือง Wednesday June 6, 2018 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งรับฟ้องในคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย จากกรณีที่ให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลังสมัยที่มี ร.อ.สุชาติ เชาววิศิษฎ์ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

โดยองคณะผู้พิพากษาพิจารณาคำฟ้องแล้วมีความเห็นว่า แม้การฟ้องไม่มีตัวจำเลย แต่จำเลยคดีนี้ถูกยื่นฟ้องในคดีของศาลฎีกาฯ ซึ่งได้ออกหมายจับไว้แล้ว ขณะที่คำฟ้องคดีก็ถูกต้องตามกฎหมาย และ ป.ป.ช.โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 27 ที่จะประทับรับฟ้องคดีไว้พิพากษาได้ จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาต่อไป โดยให้สำเนาคำฟ้องส่งให้จำเลยและปิดหมายแจ้งจำเลยทราบตามที่อยู่ในฟ้อง พร้อมกำหนดนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เวลา 08.30 น.

คดีนี้ นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้อำนวยการสำนักคดี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นนำเรื่องดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจาก ป.ป.ช.มีมติไต่สวนและชี้มูลกรณีดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค.53 โดยเป็นการยื่นฟ้องเอง เนื่องจากส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องแล้วแต่ไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช.แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติตรงกันได้หลังใช้เวลาพิจารณานานเกือบ 8 ปี และถือเป็นคดีสุดท้ายของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ค้างอยู่ในขั้นตอนของ ป.ป.ช.

สำหรับคดีที่ยื่นฟ้องนายทักษิณก่อนหน้านี้และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ มี 4 คดี ได้แก่ คดีหวยบนดิน, คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า 4 พันล้านบาท, คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือกฤษฎามหานครกว่า 9 พันล้านบาท และคดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งทั้งหมดถูกรื้อคดีมาพิจารณาลับหลังเมื่อจำเลยหลบหนีคดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ